รีเซต

โควิด : เหตุใดจีนจึงคงนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ทั้งที่หลายชาติเลือก “อยู่ร่วมกับ” ไวรัสนี้

โควิด : เหตุใดจีนจึงคงนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ทั้งที่หลายชาติเลือก “อยู่ร่วมกับ” ไวรัสนี้
ข่าวสด
16 พฤศจิกายน 2564 ( 12:01 )
40
โควิด : เหตุใดจีนจึงคงนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ทั้งที่หลายชาติเลือก “อยู่ร่วมกับ” ไวรัสนี้

คนทั่วโลกเริ่มคุ้นชินกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด-19 ทว่าจีน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของโรคระบาดนี้ยังคงดำเนินนโยบายเข้มงวดเพื่อขจัดโควิดให้หมดสิ้นไป

มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของจีน ทำให้คนที่เดินเข้าไปถามทางในโรงแรมห้าดาวต้องเข้ากระบวนการกักโรค 2 สัปดาห์เพียงเพราะแขกคนหนึ่งของโรงแรมติดโควิด และเมื่อพนักงานรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งติดโรคนี้ก็ทำให้ผู้โดยสารของรถไฟทั้งขบวนต้องถูกกักโรคและเข้ารับการตรวจหาเชื้อครั้งใหญ่ ส่วนที่สวนสนุกเซี่ยงไฮ้ ดิสนีย์แลนด์ นักท่องเที่ยว 33,863 คน ต้องเข้ารับการตรวจโควิด เพราะมีผู้มาเที่ยวในวันก่อนหน้า 1 คนติดโควิด

นี่คือชีวิตภายใต้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดที่ดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุดของผู้คนในจีน

 

จีนเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการควบคุมโรค เพื่อต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และจะเป็นหนึ่งในประเทศสุดท้ายที่ผ่อนคลายข้อบังคับเหล่านี้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อบีบีซีได้พูดคุยกับชาวจีนตามท้องถนน ก็พบว่าหลายคนดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรกับการบังคับใช้มาตรการอันเข้มงวดเหล่านี้ ตราบใดที่มันจะทำให้พวกเขาปลอดภัย

เมื่อถามผู้หญิงคนหนึ่งว่าจีนควรจะเปิดประเทศให้เร็วขึ้นไหม เธอตอบว่าจะเป็นการดีที่สุดที่จะรอต่อไปจนกว่าโรคระบาดนี้จะถูกจัดการได้อย่างเหมาะสม เพราะความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง

 

ส่วนผู้หญิงอีกคนที่กำลังเดินทางกลับบ้านหลังเลิกงานบอกว่า ปัจจุบันยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อย่างสมบูรณ์ที่จะนำไปปรับปรุงวัคซีนให้ดีขึ้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของสังคม จึงเป็นการดีที่สุดที่จะชะลอการเปิดประเทศออกไป

 

เมื่อไม่นานมานี้ หลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ ต่างจัดการการระบาดของโควิดโดยพยายามขจัดการแพร่ระบาดของเชื้อให้หมดสิ้นไปจากชุมชน ส่งผลให้หลายเมืองต้องเข้าสู่การล็อกดาวน์จนกว่าจะหยุดยั้งการระบาดได้

 

เป้าหมายของมาตรการเหล่านี้ คือทำให้การระบาดภายในท้องถิ่นเป็นศูนย์

 

อย่างไรก็ตาม มี 2 ปัจจัยที่ทำให้การใช้มาตรการเหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ การอุบัติของเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา และอัตราการให้วัคซีนต้านโควิดแก่ประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น

 

การให้วัคซีนแก่ประชากรได้มากขึ้น หมายความว่า แม้จะยังมีผู้ติดโควิด แต่คนเหล่านี้จะไม่มีอาการป่วยรุนแรงถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล

 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลายประเทศยอมเปิดพรมแดนรับนักเดินทางจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับจีนแล้ว ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะออกวีซ่าให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ขณะที่ชาวจีนเองก็ยังเดินทางออกนอกประเทศได้ยาก

 

แม้ปัจจุบันผู้คนในหลายประเทศทั่วโลกต่างกำลัง "ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสโคโรนา" แต่ไม่ใช่ในจีน ที่การระบาดระลอกใหม่ของเชื้อเดลตาถูกจัดการด้วยมาตรการคุมเข้มในระดับเดียวกับช่วงที่ประเทศยังไม่มีวัคซีนต้านโควิด

 

ข้อมูลทางการจีนระบุว่า เมื่อเดือน ต.ค. จีนพบโควิดระบาดในประเทศกว่า 1,000 ราย แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่สูง แต่การระบาดได้แพร่เข้าไปใน 21 มณฑล นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่ แม้พบผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่ราย ทางการก็ใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดแบบเดียวกับการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักร้อยหรือหลักพันคน

 

"รายเดียวก็ไม่อาจยอมรับได้"

ปัจจุบันทางการจีนยังไม่มีทีท่าว่าจะปรับเปลี่ยนวิธีจัดการกับการระบาดของโควิด แม้ว่านักวิทยาศาสตร์หลายคนจะขอให้ทวบทวนนโยบายนี้ก็ตาม

 

ศาสตราจารย์กวน อี้ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลจีน ได้เรียกร้องให้ทางการเปลี่ยนวิธีตรวจโควิดจากการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรม (nucleic acid test) มาเป็นการตรวจหาสารภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี ซึ่งอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจประสิทธิผลของวัคซีนได้มากขึ้น

 

ในการให้สัมภาษณ์กับเครือข่ายโทรทัศน์ฟีนิกซ์ ทีวี เขาระบุว่า ในระยะยาวไม่มีทางที่นโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" ของทางการจีนจะใช้ได้ผลในแง่ของการขจัดโควิดให้หมดสิ้นไป

 

"เชื้อไวรัส [โคโรนา] มีอยู่อย่างถาวรแล้วในตอนนี้...แบบเดียวกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะยังแพร่ระบาดในมนุษย์ต่อไปอีกนาน" ศาสตราจารย์กวนกล่าว

 

เขาไม่ใช่นักวิชาการคนเดียวที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบายโควิดของรัฐบาลจีน

 

ดร.หวง หยานจง จากสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ที่มีสำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก ระบุว่า ปัญหาสำคัญคือ วัคซีนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ได้ และนี่ได้สร้างความกังวลให้จีน

 

เขาบอกกับบีบีซีว่า "พวกเขา [รัฐบาลจีน] ไม่มั่นใจในประสิทธิผลของวัคซีนในแง่ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ...เพราะอันที่จริงแล้ว แม้แต่วัคซีนดีที่สุดก็ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่นโยบายการติดเชื้อเป็นศูนย์ ทำให้เราไม่สามารถยอมรับการติดเชื้อได้แม้แต่รายเดียว"

 

ดร.หวง ชี้ว่ารัฐบาลจีนผสานงานการเมืองและอุดมการณ์เข้าด้วยกันตอนที่อ้างความสำเร็จต่อประชาชนถึงความสามารถในการรับมือการระบาดของโควิด

 

"ยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ เป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมหลักของรัฐในการอ้างความสำเร็จของการรับมือกับการระบาดแบบจีน ซึ่งคือความยิ่งใหญ่สูงส่งของระบบการเมืองของจีน ดังนั้นถ้าคุณละทิ้งยุทธศาสตร์นี้ แล้วคุณเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมาก ก็จะทำให้ประชาชนกังขาถึงความสามารถของระบบนี้ "

"เหตุผลล้านประการ"

อีกสาเหตุที่ทางการจีนต้องการให้ประเทศปลอดจากการระบาดของโควิดก็คือ การที่จีนกำลังจะมีงานใหญ่ในปีหน้า

งานที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ คือ มหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือน ก.พ. 2022 ซึ่งแม้จะไม่มีการขายบัตรให้ประชาชนเข้าชมตามปกติ แต่ทางการก็มีเป้าหมายที่จะให้มีผู้ชมอยู่บนอัฒจันทร์

นอกจากนี้ ในเดือน ต.ค. ปีหน้า ก็จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ที่จัดขึ้นทุก 5 ปี ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการดำรงตำแหน่งผู้นำเป็นสมัยที่ 3

นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีการจัดงานสำคัญอื่น ๆ เกิดขึ้นด้วยในปีหน้า

 

อีกการตีความหนึ่งของการที่จีนยังชะลอการเปิดประเทศออกไปนั้นอาจเป็นเพราะ นายสี และรัฐบาลของเขา ชื่นชอบความคิดเรื่องการลดอิทธิพลชาวต่างชาติในจีน ซึ่งการระบาดใหญ่ของโควิดก็เป็นโอกาสเหมาะที่จะดำเนินนโยบายไปในทิศทางนี้

 

บีบีซีได้สอบถามนายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า เมื่อใดจีนจะเริ่มเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติเหมือนประเทศอื่น ๆ

 

เขาตอบว่า จีนได้เฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น ๆ และจะดำเนินการตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อตัดสินใจเรื่องนี้ในภาวะที่มีเชื้อโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ อุบัติขึ้น

 

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนต่างไม่ได้ส่งสัญญาณเรื่องการยุตินโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" ในเร็ววันนี้ อันที่จริงกลับมีท่าทีตรงกันข้าม

 

ดร.จง หนานซาน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐให้ความเชื่อถือ หลังจากเคยท้าทายจุดยืนของรัฐบาลจีนในปี 2003 ที่ระบุว่า การระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือโรคซาร์สนั้น ไม่รุนแรง

 

ในการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาระบุว่ามาตรการโควิดที่เข้มงวดของจีนจะยังอยู่ต่อไปอีกนาน

 

เขาชี้ว่า อัตราการเสียชีวิตจากโควิดของทั่วโลกที่ระดับ 2% นั้น ยังสูงเกินไปที่จีนจะยอมรับได้แม้จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม และความเสียหายจากการเปิดประเทศเร็วเกินไปก็จะไม่คุ้มค่า พร้อมระบุว่า จีนจะเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่าง ๆ ที่ใช้แผนการ "อยู่ร่วมกับโควิด"

อีกเรื่องที่จะต้องพิจารณาก็คือ การที่เจ้าหน้าที่จีนมีแนวทางทำงานที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม เป็นไปได้ที่พวกเขาอาจมีแผนจะเปิดประเทศอีกครั้ง แต่คงไม่เร่งรัดให้เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

 

สำหรับคนที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศจีน ก็คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องรอดูต่อไป แต่สำหรับคนจีนส่วนใหญ่แล้วดูเหมือนจะยอมรับได้กับการที่รัฐบาลจัดการสถานการณ์ในปัจจุบัน หากว่ามันจะทำให้พวกเขาปลอดภัย

 

ในระหว่างนี้ การตรวจคัดกรองโรคขนานใหญ่ การกักโรคที่ศูนย์ของทางการ การควบคุมการคมนาคมขนส่ง การสอดส่องในระดับสูง การเฝ้าติดตามผู้ติดเชื้อ ตลอดจนการล็อกดาวน์ในระดับท้องถิ่นที่เข้มงวดก็ยังจะเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศจีนต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง