รีเซต

ไม่อยากให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรม ผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไร?

ไม่อยากให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรม ผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไร?
TeaC
11 ตุลาคม 2564 ( 15:38 )
302
ไม่อยากให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรม ผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไร?

ไม่อยากให้เด็กเลียนแบบ กลัวเด็กเลียนแบบพฤติกรรม ตามรอยซีรีย์ดังเกาหลี Squid Game ผู้ใหญ่ต้องทำอย่างไร? โดย "พฤติกรรมเลียนแบบ" ถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่เป็นทั้งด้านบวกและด้านลบ คำถามต่อมาที่อาจเกิดขึ้นกับพ่อแม่หรือผุ้ปกครองที่ใกล้ชิดว่า การที่เด็กเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ใหญ่นั้น ส่งผลดี หรือผลเสียต่อตัวเด็กหรือไม่? อย่างไร? วันนี้จะพาไปทำความเข้าใจ เพื่อรับมือหากเด็กเริ่มมีพฤติกรรมการเลียนแบบ 

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ลงบทสัมภาษณ์ของ รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์  หน่วยพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเลียนแบบผู้ใหญ่ของเด็กว่า เด็กส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยกำลังเติบโตมักมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ เพื่อน หรือคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กเอง ซึ่งมีทั้งพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ในส่วนของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะกับวัยของเด็ก พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง และอื่น ๆ

 

ขณะที่ ผลเสียต่อตัวเด็กหากเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับช่วงวัยเด็กนั้น ส่วนมากเด็กจะซึมซับจากพ่อแม่ที่ใกล้ชิด เช่น 

 

  • อยากทาลิปสติกหรือสวมรองเท้าส้นสูงเหมือนคุณแม่ ที่อาจทำให้ผู้ปกครองกังวลใจว่าลูกจะเป็นเด็กที่โตเกินตัว
  • ในเด็กผู้ชายพ่อแม่ก็อาจกลัวว่าลูกจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน

 

แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนมากหากเกิดกับเด็กเล็ก ๆ ช่วง 3-4 ขวบ มักเป็นเรื่องปกติและไม่ส่งผลเสียในระยะยาว เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นจะมีสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่ามาแทนที่ตามวัยของเด็ก เช่น

 

  • เพื่อน
  • การเรียน
  • กิจกรรมบางอย่าง
  • ฯลฯ

 

ส่งผลให้พฤติกรรมเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องดังกล่าวหายไปเองตามธรรมชาติ

 

เมื่อลูกเลียนแบบพฤติกรรม ป้องกันก่อนเกิดปัญหาได้อย่างไร?

 

ทั้งนี้ จากการยกตัวอย่างของการเลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ข้างต้น สิ่งที่พ่อแม่สามารถป้องกันปัญหาเบื้องต้นได้ในช่วงที่ลูกแสดงออกถึงพฤติกรรมดังกล่าว ได้แก่

 

  • ไม่แสดงความสนใจ
  • ไม่ชื่นชมยกย่อง
  • พยายามแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้ดีเสมอไป 

 

พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง จัดการได้อย่างไร?

 

รศ.พญ.นิชรา ยังได้อธิบายถึงการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่เด็กไปซึมซับมาจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น พื่อนที่โรงเรียน หรือจากสื่อต่าง ๆ หากเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สามารถแก้ไขได้

 

  • แสดงอาการไม่ยอมรับในสิ่งที่เด็กทำ
  • เพิกเฉยต่อกิริยาก้าวร้าว

 

ซึ่งวิธีดังกล่าว จะทำให้เด็กรับรู้ได้ว่าการแสดงพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเป็นคนที่มีความสำคัญกับตัวเด็กเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นความก้าวร้าวที่มีความรุนแรง ก็จำเป็นต้องหยุดพฤติกรรมดังกล่าว ได้แก่ การทำร้ายคนอื่น การทำลายข้าวของ เป็นต้น

 

พฤติกรรมการเลียนแบบศิลปิน ตามรอยซีรีย์ดังเกาหลี Squid Game ป้องกันได้

 

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า ศิลปิน คนดัง บล็อเกอร์ดังต่าง ๆ ที่อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ หรือสังคมโซเชียลฯ ที่เข้าถึงเด็กได้ง่ายและรวดเร็ว รวมทั้งซีรีย์ดังอย่าง Squid Game ที่ผู้ใหญ่บางคนกังวลกลัวเด็กเลียนแบบพฤติกรรม ซึ่งหากเป็นในด้านดี เช่น เลียนแบบความสามารถ ความมีวินัย อันนี้คงไม่น่าห่วง เท่ากับความกังวลเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนดัง โดยสิ่งที่ควรป้องกันและแก้ไขที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ต้องใส่ใจและปฏิบัติ เพื่อรับมือเด็กในแต่ละช่วงวัย เช่น 

 

  • พยายามชี้แจงเด็กทีละน้อยให้เด็กค่อย ๆ ซึมซับและเข้าใจ
  • รู้จักแยกแยะพฤติกรรมที่ควรทำและไม่ควรทำในอนาคต
  • พยายามใกล้ชิดเด็กให้มาก ๆ ทุกช่วงวัย เพราะในแต่ละช่วงวัย เด็กจะมีการแสดงออกถึงความรักความเอาใจใส่ที่แตกต่างกันออกไป
  • เด็กเล็กที่ต้องการความรักความอบอุ่น พ่อแม่ก็ควรให้ในส่วนนี้มาก ๆ
  • เด็กเริ่มโต เริ่มเข้าใจเหตุผลและมีความคิดเป็นของตัวเอง สามารถดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ในระดับหนึ่ง การแสดงออกถึงความใกล้ชิดเอาใจใส่ของพ่อแม่ก็จะเปลี่ยนเป็นการพูดคุยแทน
  • หากเด็กมีคำถามมาปรึกษา การพูดคุยควรเป็นลักษณะการแลกเปลี่ยน อธิบาย หรือซักถามความเห็นของเด็กบ้าง
  • ไม่ควรกังวลจนเผลอซักไซ้หรือควบคุมเด็กมากจนเด็กรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่ในเรื่องต่าง ๆ

 

 

และนี่คือ อีกหนึ่งทางป้องกันเบื้องต้นของพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ที่ควรรับมือเด็กในแต่ละช่วงวัย ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือ "ความรักและความเข้าใจ" ที่ต้องควบคู่กันไปในการเลี้ยงดูลูก ซึ่งอย่าลืมว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีความรวดเร็ว การรับข่าวสารต่าง ๆ ไวจนอาจต้องรับมือให้ "รู้เท่าทัน" ของการใช้เทคโนโลยี ตลอดจน "ความใกล้ชิด" การสังเกตเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จะได้รับมือกันทันในความเปลี่ยนแปลงของเด็กทุกช่วงวัย

 

"อย่าตึงจนเด็กอึดอัด อย่าหย่อนจนเด็กหลงทาง"

 

ข้อมูล : โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง