รีเซต

กฎหมายทวงหนี้ 2565 เช็คทวงหนี้ถูกกฎหมาย มีอะไรบ้าง แบบไหนทำได้ ไม่ได้

กฎหมายทวงหนี้ 2565 เช็คทวงหนี้ถูกกฎหมาย มีอะไรบ้าง แบบไหนทำได้ ไม่ได้
Ingonn
29 มิถุนายน 2566 ( 11:49 )
9.9K
กฎหมายทวงหนี้ 2565 เช็คทวงหนี้ถูกกฎหมาย มีอะไรบ้าง แบบไหนทำได้ ไม่ได้

กู้เงินนอกระบบ จนเป็นหนี้ เมื่อถึงเวลาเจ้าหนี้ ต้องทวงหนี้ จะต้องทวงหนี้ถูกกฎหมาย ตามกฎหมายทวงหนี้ ล่าสุด ซึ่งอาจจะยังมีเจ้าหนี้บางราย ใช้วิธีทวงหนี้ผิดกฎหมายอยู่ ดังนั้น TrueID จึงรวบรวมมาให้แล้วว่า กฎหมายทวงหนี้ มีอะไรบ้าง

 

กฎหมายทวงหนี้

ผู้มีสิทธิทวงหนี้คือ เจ้าหนี้โดยตรง อาจเป็นสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการสินเชื่อ/บัตรเครดิต/เช่าซื้อ ซึ่งครอบคลุมเจ้าหนี้นอกระบบ และเจ้าหนี้ในกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย (เช่น หนี้การพนัน) รวมถึงผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ตามกฎหมาย ผู้รับมอบอำนาจช่วง (ผู้ได้รับมอบอำนาจ จากผู้รับมอบอำนาจอีกทอดหนึ่ง) ผู้ประกอบธุรกิจทวงหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย ซึ่งในกรณีผู้รับมอบอำนาจมาทุกกรณี หากลูกหนี้ทวงถามต่อหน้าต้องนำหลักฐานการมอบอำนาจมาแสดงด้วย

 

ทวงหนี้ถูกกฎหมาย มีอะไรบ้าง

การทวงหนี้ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของลูกหนี้ กฎหมายจึงกำหนดวิธีการทวงหนี้ไว้ ดังนี้ 

  1. การติดต่อ: โดยบุคคล หรือไปรษณีย์

  2. สถานที่ติดต่อ: สถานที่ที่ระบุไว้เพื่อการทวงหนี้ หากลูกหนี้ไม่ได้แจ้งให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือตามที่คณะกรรมการทวงถามหนี้ประกาศกำหนด


  3. เวลาที่ติดต่อ: สามารถทวงหนี้โดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่าง 8.00 น.- 20.00 น. วันหยุดราชการ 08.00 น.-18.00 น.


  4. ความถี่: สามารถทวงได้ ไม่เกิน 1 ครั้ง/วัน (ถ้า “เพื่อนทวงเพื่อน” ทวงได้เกิน 1 ครั้ง/วัน)

    นับการทวงเมื่อลูกหนี้รับโทรศัพท์และรับทราบการทวงอย่างชัดเจน หรือเมื่อลูกหนี้เปิดอ่านไลน์การทวง แต่ถ้าไลน์ไปแต่ไม่ได้เปิดอ่าน โทรหาไม่รับ หรือโทรไปแต่ยังไม่ทันได้พูดเรื่องหนี้ชัดเจน เป็นแค่การทักทายกัน ตามกฎหมายจะไม่นับเป็นการทวงหนี้

 

ทวงหนี้ผิดกฎหมาย มีอะไรบ้าง

  1. การขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ซึ่งความจริงคือ การไม่จ่ายหนี้ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายอาญา แต่เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น ถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย 

  2. จะมีการยึดทรัพย์ทันทีถ้าไม่จ่าย ซึ่งความจริงคือ เจ้าหนี้ต้องฟ้องร้องต่อศาลจนคดีถึงที่สุดก่อน

  3. การโทรทวง เช้า กลางวัน เย็น ไม่สามารถทำได้ กฎหมายให้ทวงหนี้ได้วันละ 1 ครั้งเท่านั้น

  4. ห้ามทวงถามหนี้กับคนอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้ระบุไว้

  5. ห้ามบอกความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่น เนื่องจากกฎหมายไม่ให้ประจานลูกหนี้ หรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง โดยบอกคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ยกเว้น (1) เป็นคนในครอบครัวลูกหนี้ เช่น สามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน และกรณีที่บุคคลอื่นถามเจ้าหนี้ว่า “มาติดต่อเพราะสาเหตุอะไร”

  6. ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมาย หนังสือหรือสื่อใด ๆ ให้(บุคคลอื่น) เข้าใจว่า ติดต่อเพื่อทวงหนี้

  7. ห้ามติดต่อ แสดงตนทำให้ผู้ติดต่อด้วยเข้าใจผิด เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อของลูกหนี้

  8. ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น

  9. ห้ามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศ

 

เจ้าหนี้ห้ามทวงหนี้แบบไหน มีโทษอย่างไร

ห้ามทวงกับคนที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่จะระบุไว้ในสัญญา *ยกเว้น สามี ภรรยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ของลูกหนี้

  • ฝ่าฝืนมีโทษ : จำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับสูงสุด 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ห้ามส่งเอกสารทวงหนี้แบบเปิดผนึก แสดงข้อความ/โลโก้บนจดหมาย ที่สื่อว่าทวงหนี้

  • ฝ่าฝืนมีโทษ : จำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับสูงสุด 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ห้ามส่งเอกสารแอบอ้าง หน่วยงานรัฐเพื่อทวงหนี้

  • ฝ่าฝืนมีโทษ : จำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ห้ามส่งเอกสารทวงหนี้โดยแอบอ้างว่ามาจากสำนักกฎหมาย-ทนายความ หรือแสดงข้อความข่มขู่ว่าหากไม่ชำระจะดำเนินคดี-ยึดทรัพย์-อายัดเงินเดือน

  • ฝ่าฝืนมีโทษ : จำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับสูงสุด 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ติดต่อทวงถามหนี้ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง จันทร์-ศุกร์ 8.00-20.00 น. : วันหยุดราชการ 8.00-18.00 น. นับรวมทั้งการโทรศัพท์, ส่ง SMS หรือแอพลิเคชั่น Line หากลูกหนี้รับสายหรือเปิดอ่านข้อความถือว่าทวงแล้ว *แต่หากไม่รับสาย-ไม่อ่านข้อความ ถือว่ายังไม่ได้ทวง

  • หากฝ่าฝืนโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท 

 

ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้

  • ฝ่าฝืนมีโทษ : จำคุกสูงสุด 1 ปี หรือ ปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน และชื่อเสียง

  • ฝ่าฝืนมีโทษ : จำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ถ้าประชาชนถูกทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ลูกหนี้สามารถร้องเรียน หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร.1213 โดยกฎหมายกำหนดไว้ว่าการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น การเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท 


ส่วนผู้ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท และ การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท 


หากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ขณะเดียวกันประชาชนหากถูกแก๊งทวงหนี้ แอบอ้าง ข่มขู่ ตั้งสติให้ดี แล้วทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยเพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

ข้อมูล ธนาคารแห่งประเทศไทย  , กรมประชาสัมพันธ์ , สำนักงานกิจการยุติธรรม

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

ข่าวที่เกี่ยวข้อง