แอปพลิเคชันตรวจปลาทูน่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถตัดเกรดและจัดอันดับ
ปลาทูน่า (Tuna) เป็นหนึ่งในปลาสำคัญของอาหารญี่ปุ่น ถึงขั้นมีการจัดอันดับและระดับคุณภาพของเนื้อปลาทูน่าที่แตกต่างกัน โดยปกติการจัดระดับเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมและสั่งสมประสบการณ์มาโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม บุคลากรด้านนี้นั้นมีไม่เพียงพอต่อความต้องการปลาทูน่าที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทเอเจนซี่โฆษณาชื่อเดนท์สุ (Dentsu) พัฒนาแอปพลิเคชันทูน่าสโคป (Tuna Scope) ติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว
แอปพลิเคชัทูน่าสโคป (Tuna Scope) สามารถประเมินคุณภาพปลาทูน่าได้เพียงแค่ถ่ายรูปตัดขวางตัวปลา จากนั้นแอปพลิเคชันจะทำการคำนวณเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่เดิมแล้วให้คะแนนออกมา ตั้งแต่ระดับ A ซึ่งดีที่สุด ไปจนถึง M ที่เป็นระดับทั่วไป โดยการทดสอบระบุว่าความแม่นยำของแอปพลิเคชันนั้นสามารถระบุปลาตัวเดิมด้วยคะแนนเดิมได้ 4 ครั้ง จากการทดสอบทั้งหมด 5 ครั้ง
โดยกระบวนการเบื้องหลังจะพิจารณาจากฐานข้อมูลภาพถ่ายปลาทูน่า และใช้กระบวนการเรียนรู้ของตัวปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกว่าแมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning) เพื่อวิเคราะห์ความสดของปลาจากสีเนื้อปลา ความหนาแน่นของเนื้อ รวมไปถึงลักษณะลายไขมันแทรกในตัวปลา ไปจนถึงปริมาณไขมันที่แทรกโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ทำให้เกิดแอปพลิเคชันนี้ก็เป็นปัญหาที่วิพากษ์วิจารณ์แอปพลิเคชันตัวนี้เช่นกัน เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านการจำแนกปลาทูน่าในญี่ปุ่นนั้นไม่เห็นด้วยกับการใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นเกณฑ์กลางเท่าใดนัก เนื่องจากเห็นว่าภาพถ่ายเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้คุณภาพที่แท้จริงของตัวปลา เพราะแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองยังเจอปัญหาปลาไม่ได้คุณภาพตามที่ประเมินไว้แต่แรก
แต่ทว่าทางบริษัท เดนท์สุ (Dentsu) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันทูน่าสโคป (Tuna Scope) ยังคงเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันว่าจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการเลือกซื้อและการประเมินคุณภาพทูน่า โดยแอปพลิเคชันนี้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2020 พร้อมรับรางวัล Red Dot Award ในปีเดียวกัน และยังคงพัฒนาจนถึงปัจจุบัน และทางผู้พัฒนากำลังมองหาตลาดและพันธมิตรสำหรับการขยายฐานข้อมูลอยู่ในขณะนี้
ที่มาข้อมูล Engadget
ที่มารูปภาพ Tuna Scope