1 ใน 3 สายพันธุ์ทั่วโลก เสี่ยงสูญพันธุ์ปี 2100 หากโลกเดือดไม่หยุด
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบเบื้องต้นกับเราได้ว่า หากโลกร้อนไม่หยุด จนทะลุเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกจะหายไปเท่าไหร่ เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21
---ปี 2100 สิ่งมีชีวิตเกือบ 1 ใน 3 สายพันธุ์ จะหายไปจากโลก---
ผลการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งตีพิมพ์ผ่านวารสาร Scinece เมื่อวันพฤหัสบดี (5 ธันวาคม) ที่ผ่านมา พบว่า สิ่งมีชีวิตเกือบ 1 ใน 3 สายพันธุ์ อาจเสี่ยงสูญพันธุ์ไปจากโลกภายในปี 2100 หากเรายังไม่สามารถหยุดยั้งภาวะโลกร้อนได้ โดยถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกทะลุเกิน 1.5 องศาฯ เกินกว่าค่ากำหนดตามข้อตกลงปารีส จะยิ่งเร่งให้อัตราการสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น
ทีมวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า 30 ปี ครอบคลุมสายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักมากกว่า 450 สายพันธุ์ทั่วโลก พวกเขาทำการประเมินความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ ในแต่ละระดับของอุณหภูมิโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ปัจจุบัน อุณหภูมิโลกเฉลี่ย อยู่ที่ 1.3 องศาฯ อัตราการสูญพันธุ์จะอยู่ที่ 1.6% ภายในปี 2100 แต่ถ้าแตะไปถึง 1.5 องศาฯ อัตราการสูญพันธุ์จะขึ้นไปอยู่ที่ 1.8% ซึ่งดูอาจจะไม่เยอะมาก แต่มาดูกันต่อว่า ถ้าโลกร้อนมากกว่า 1.5 องศาฯ จะเป็นอย่างไร
ถ้าโลกเราร้อนแตะถึง 2.7 องศาฯ อัตราการสูญพันธุ์จะขึ้นไปอยู่ที่ 5% หรือคิดเป็นประมาณ 450,000 สายพันธุ์ แต่ถ้าโลกร้อนสูงขึ้นไปกว่านั้นที่ 4.3 องศาฯ อัตราการสูญพันธุ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 14.9% และที่เลวร้ายสุด หากโลกร้อนไปแตะระดับ 5.4 องศาฯ อัตราการสูญพันธุ์จะเพิ่มสูงถึง 29.7% หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 สายพันธุ์ทั่วโลก
---โลกยิ่งร้อน สิ่งมีชีวิตยิ่งหายไป---
แม้ว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ จะไม่สามารถระบุตัวเลขที่แน่ชัดได้ว่า บนโลกใบนี้ มีสิ่งมีชีวิตทั้งหมดกี่สายพันธุ์ แต่ก็มีการประเมินไว้ ณ ตอนนี้ ว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณมากกว่า 10 ล้านสายพันธุ์
มาร์ค เออร์บัน นักนิเวศวิทยา และผู้เขียนผลการศึกษาชิ้นนี้ ระบุว่า ภายใต้อุณหภูมิโลกปัจจุบัน เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 โลกจะสูญเสียสิ่งมีชีวิตไปประมาณ 160,000 สายพันธุ์ แต่ถ้าหากโลกล้มเหลวในการจัดการ หรือ ออกนโยบายเพิ่มเติม เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน สิ่งมีชีวิตจะสูญไปอย่างน้อยครึ่งล้านสายพันธุ์ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ความเสี่ยงของการสูญพันธ์จะเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิแต่ละระดับ” เออร์บัน กล่าว
สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแถบอเมริกาใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ถือว่าเป็นภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบหนักสุด โดยเฉพาะกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เพราะว่าวัฏจักรชีวิตของพวกมันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศอย่างหนัก ซ้ำยังเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวสูงต่อรูปแบบของฝน และความแห้งแล้ง
---ไม่มีที่ให้หลบหนี---
สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามภูเขา, เกาะ และแหล่งน้ำจืด ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเช่นกัน นั่นอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่โดดเดี่ยวเหล่านี้ ไม่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดได้ ซึ่งยากต่อการเคลื่อนย้ายไปยังอุณหภูมิที่เหมาะสมกับสายพันธุ์นั้น ๆ ได้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออุณหภูมิโลกร้อนขึ้น สัตว์ที่อาศัยอยู่บนภูเขาสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังที่สูงขึ้นได้ก็จริง แต่หากอุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงเรื่อย ๆ ท้ายสุด พวกมันก็จะย้ายไปอยู่บนยอดสูงสุดของภูเขา และไม่มีพื้นที่ให้หลบหนีอีกต่อไป ซึ่งปรากฎการณ์นี้ จะถูกเรียกว่า เป็น “บันไดเลื่อนที่นำไปสู่การสูญพันธุ์”
เช่นเดียวกับ สิ่งมีชีวิตบนเกาะก็มีความเสี่ยงมาก เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด, มีประชากรน้อย มักอยู่อย่างโดดเดี่ยว ทำให้ยากต่อการฟื้นฟู หากสายพันธุ์ต่าง ๆ สูญหายไป และยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามอื่น ๆ เช่น สายพันธุ์รุกราน ที่โลกร้อนเป็นตัวการทำให้ปัญหานี้เลวร้ายมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้สร้างปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังทวีความรุนแรงให้กับปัญหาที่มีอยู่ดั้งเดิมด้วย เช่น ภัยแล้ง ที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า หรือ การแพร่กระจายของโรคสัตว์ป่า
---ธรรมชาติ คือ รากฐานชีวิตมนุษย์---
ถึงเราจะเห็นตัวเลขอัตราการเสี่ยงสูญพันธุ์เป็นหลักหน่วย หรือ หลักสิบเปอร์เซนต์ แต่ถ้าหากแปรเปลี่ยนเป็นตัวเลข จะพบว่า แม้เปอร์เซนต์เพียงน้อยนิด ก็เท่ากับสิ่งมีชีวิตหลายหมื่นสายพันธุ์ แลพแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีคุณค่าต่อสังคมมนุษย์ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืช หรือ สัตว์ มีส่วนช่วยรักษาปัญหาสุขภาพได้ นักวิจัยเผยว่า ยาปฏิชีวนะและยากรักษามะเร็งในปัจจุบัน 70% มีรากฐานมาจากสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ
“มนุษย์ส่วนใหญ่รักธรรมชาติ และนั่นคืออีกแง่มุมหนึ่งของธรรมชาติ แต่ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นรากฐานของสุขภาพ, ความมั่งคั่ง และวัฒนธรรมของเรา” เออร์บัน กล่าว
เออร์บัน หวังว่า ผลการศึกษานี้ จะมีผลต่อผู้กำหนดนโยบาย ให้หันมาดำเนินการอย่างจริงจัง เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมากขึ้น
“ไม่มีข้อแก้ตัวที่จะไม่ดำเนินการอะไรอีกต่อไป เพราะผลกระทบเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน” เขา กล่าว
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.vox.com/down-to-earth/389843/climate-change-wildlife-extinction-study