รีเซต

นักวิทย์จีนพบแนวทางยับยั้งผลข้างเคียงจาก 'ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็ง'

นักวิทย์จีนพบแนวทางยับยั้งผลข้างเคียงจาก 'ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็ง'
Xinhua
30 กันยายน 2566 ( 15:53 )
80

(แฟ้มภาพซินหัว : นักวิทยาศาสตร์ของจีนจัดเรียงแฟ้มบันทึกผลปฏิบัติการที่ห้องทดลองของสถาบันไบโอเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมแห่งเทียนจิน สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน วันที่ 16 ก.ย. 2021)

ปักกิ่ง, 30 ก.ย. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ วารสารเนเจอร์ ไบโอเมดิคัล เอ็นจิเนียริง (Nature Biomedical Engineering) เผยแพร่บทความที่ระบุว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้ค้นพบแนวทางยับยั้งการเกิดกลุ่มอาการจากการหลั่งไซโตไคน์ (CRS) อันมีต้นตอจากการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

ภาวะซีอาร์เอสหรือพายุไซโตไคน์ (cytokine storm) คือระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาตอบสนองมากเกินไป กลายเป็นผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ของการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดบางส่วน เช่น การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันที-เซลล์ ซีเออาร์ (CAR T-cell) ซึ่งสามารถรักษาเนื้องอกร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันปล่อยไซโตไคน์อักเสบจำนวนมากจนนำสู่ภาวะซีอาร์เอส

ผู้ป่วยที่มีภาวะซีอาร์เอสจะมีอาการเป็นไข้ ความดันเลือดต่ำ อวัยวะล้มเหลว และอาจเสียชีวิตในกรณีที่มีอาการรุนแรง โดยตัวเลือกการรักษาในปัจจุบันคือฉีดแอนติบอดีอินเตอร์ลิวคิน 6 (IL-6) หรือไซโตไคน์ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มขึ้น ทว่าไม่สามารถฉีดสารเหล่านี้ก่อนเกิดภาวะซีอาร์เอส มิฉะนั้นจะเกิดผลกระทบต่อระดับอินเตอร์ลิวคินภายในร่างกาย

คณะนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์นาโนศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติจีนได้พัฒนาไฮโดรเจลที่ไวต่ออุณหภูมิควบรวมกับแอนติบอดีอินเตอร์ลิวคิน 6 ซึ่งสามารถฉีดล่วงหน้าและลดระดับของอินเตอร์ลิวคิน 6 ได้อย่างมาก เมื่อเกิดภาวะซีอาร์เอสที่มีต้นตอจากการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันที-เซลล์ ซีเออาร์

ไฮโดรเจลดังกล่าวที่ฉีดเข้าสู่ร่างกายทำงานคล้าย "ฟองน้ำ" ดูดซับเฉพาะอินเตอร์ลิวคิน 6 ที่พุ่งสูงเกินระดับปกติ จึงป้องกันการเกิดภาวะซีอาร์เอส โดย "ฟองน้ำ" นี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการต้านทานเนื้องอกร้ายของการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด และสามารถดูดออกด้วยเข็มฉีดอย่างง่ายดาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง