รีเซต

วัคซีนเด็ก "ไฟเซอร์ฝาสีส้ม" ล็อตแรก 3 แสนโดสถึงไทย เริ่มฉีด 31 ม.ค.นี้

วัคซีนเด็ก "ไฟเซอร์ฝาสีส้ม" ล็อตแรก 3 แสนโดสถึงไทย เริ่มฉีด 31 ม.ค.นี้
TNN ช่อง16
26 มกราคม 2565 ( 15:35 )
271

วันนี้ (26 ม.ค.65) ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ และการกระจายวัคซีนไฟเซอร์เด็กอายุ 5-11 ปี ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา วัคซีนไฟเซอร์ ฝาส้ม ได้ส่งถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนต่อไปจะจัดส่งเอกสารวัคซีนให้กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อตรวจสอบคุณภาพ และจากนั้น จะกระจายส่งวัคซีนไปตามจุดทั่วประเทศ โดยจะเริ่มฉีดให้กับเด็กเล็ก5-11 ปี วันที่ 31 ม.ค.ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

ทั้งนี้ ขวดยา มีฝาพลาสติกปิดสีส้ม บรรจุสารเข้มข้น 1.3 มิลลิลิตร เจือจางด้วยสารละลายโซเดียมคลอไรด์ ร้อยละ 0.9 หรือน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อ สำหรับฉีดปริมาณ 1.3 มิลลิลิตรก่อนใช้ โดยในวัคซีน 1 ขวด ฉีดได้ 10โดส หรือ10 คน ปริมาณต่อโดส 0.2 มิลลิลิตร 

ขณะที่ การเก็บวัคซีนไฟเซอร์อยู่ที่  2-8 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นาน 10 สัปดาห์ นับแต่นำออกจากตู้แช่แข็ง

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า เด็กที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคกลุ่มเสี่ยง จะทำการฉีดที่โรงพยาบาล  เด็กอีกส่วนในระบบการศึกษา จะทำการฉีดที่โรงเรียน ส่วนเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาที่บ้านหรือนอกระบบการศึกษาจะทำการฉีดที่โรงพยาบาล 

สำหรับระยะห่างการรับวัคซีนโควิด ตามคำแนะนำ ในเด็กเล็ก 5-11 ปี จะฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 -12 สัปดาห์ ในตอนแรก ที่กำหนดในช่วงเวลานี้ มีหลายปัจจัยแต่การกำหนดว่าจะฉีดได้นานแค่ไหน ขึ้นอยู่หลายปัจจัย คือ 1. ประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกัน 2. เรื่องความปลอดภัย และ 3.เรื่องสถานการณ์การระบาดของโรคในขณะนั้น 

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในทวีปเอเชีย ถัดจากสิงคโปร์ ที่บริษัทไฟเซอร์จัดส่งวัคซีนไปเซอร์สำหรับเด็กฝาสีส้มในการฉีดให้เด็กเล็ก 5-11 ปี 

ขณะที่ อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน ส่วนมากอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1-2 วัน เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวด บวม รอยแดง บริเวณที่ฉีด ปวดหัวปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวตามกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย โดยหลังฉีดวัคซีนจะให้เฝ้าสังเกตอาการ30 นาที ซึ่งข้อมูลจากทั่วโลก พบว่า ผลข้างเคียงในเด็กเล็กน้อยกว่าเด็กโตเนื่องจากปริมาณการฉีดน้อยกว่า 

ส่วนเด็กโต 12 - 18 ปี ยังคงเป็นวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับการฉีดในผู้ใหญ่

ด้าน นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุถึงแนวทางการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคประจำตัว ว่า ขณะนี้ ในระบบเด็กกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค มีประมาณ 9 แสนคน 

การเข้าถึงคือผู้ปกครองจะต้องยินยอมในการให้หลานเข้ารับการฉีดวัคซีน หากวันที่ฉีดวัคซีน เด็กมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย แพทย์อาจพิจารณายังไม่ให้ฉีดอาจจะต้องชะลอการฉีดไปก่อน รวมถึง เด็กที่มามีโรคประจำตัว แต่อาการไม่คงที่อาการรุนแรงขึ้น 

หลังการฉีดวัคซีนเด็กเล็กแล้ว ข้อแนะนำสำคัญคือ1 สัปดาห์ ไม่ควรให้เด็กวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายหนัก 

ส่วนข้อกังวล และต้องเฝ้าระวัง คืออาการข้างเคียงในเด็กด้านหัวใจ โดยข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 7 ล้านกว่าโดส  มี 8 คน ที่วินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในจำนวนนี้หายแล้ว5 คน เหลือ3 คนที่อยู่ระหว่างรักษาอาการ 

ขณะที่ แนวทางการดูแลส่งต่อในกรณีสงสัยเด็กอาการรุนแรงที่เกี่ยวกับกลุ่มโรคหัวใจ หากในช่วง 2-7 วัน เจ็บหน้าอกหายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น ให้รีบมาพบแพทย์ 

ส่วนกลุ่มอาการอื่นๆ ไข้สูง มากกว่า 39องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน ทานอาหารไม่ได้ เด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว ให้รีบส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านและประเมินอาการ  หากโรงพยาบาลในพื้นที่ประเมินแล้วเกินศักยภาพให้ส่งต่อมายังโรงพยาบาลศูนย์ หรือสถาบันสุขภาพเด็ก หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเพื่อตรวจวินิจฉัยรักษา

ด้าน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุถึงสถานการณ์การเสียชีวิตของเด็กด้วยโควิด-19 โดยทั่วโลก มีเด็กเสียชีวิตจำนวนไม่มาก

อัตราการเสียชีวิตในเด็กติดเชื้อโควิดที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และเป็นเด็กโต มากกว่าเด็กเล็ก ถึงแม้อาการในเด็กเล็กเมื่อติดเชื้อช่วงแรกอาจจะไม่รุนแรง แต่อาจจะมีผลแทรกซ้อนตามมาที่ส่งผลต่อร่างกายได้ คือ อาการมิสซี 

ขณะที่ เด็กที่ฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการมิสซี หรืออาการอักเสบทั่วร่างกาย น้อยกว่าเด็กที่ไม่ฉีดวัคซีนโควิด

นอกจากนี้ มีการระบุว่าวัคซีนโควิดสำหรับเด็ก มีการแยกเฉพาะปริมาณการฉีดจะน้อยกว่าของผู้ใหญ่ 3 เท่า ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กมีการฉีดแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งพบว่ามีความปลอดภัย 

สำหรับผลข้างเคียงที่พบในเด็กที่รับวัคซีนไฟเซอร์ มักพบอาการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจโดยที่สหรัฐอเมริกาพบประมาณ 11 ราย และสามารถหายเองได้  

ส่วนวัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ทาง อย. ยังไม่รับรอง ซึ่งยังต้องคอยข้อมูลประกอบว่าจะสามารถนำมาฉีดให้เด็กโดยมีความปลอดภัยได้หรือไม่ พร้อมย้ำว่า การรับวัคซีนดีกว่าการไม่ได้รับวัคซีน 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้ 100% แต่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้.


ภาพจาก กระทรวงสาธารณสุข


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง