รีเซต

Editor’s Pick: ‘แม้แต่โรงรับจำนำยังจะเจ๊ง’ โควิดสะเทือนเศรษฐกิจไทย หนักกว่า 'ต้มยำกุ้ง' ถึงขั้นผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัว

Editor’s Pick: ‘แม้แต่โรงรับจำนำยังจะเจ๊ง’ โควิดสะเทือนเศรษฐกิจไทย หนักกว่า 'ต้มยำกุ้ง' ถึงขั้นผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัว
TNN World
23 กรกฎาคม 2564 ( 09:55 )
74
Editor’s Pick: ‘แม้แต่โรงรับจำนำยังจะเจ๊ง’ โควิดสะเทือนเศรษฐกิจไทย หนักกว่า 'ต้มยำกุ้ง' ถึงขั้นผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัว
 
ท่ามกลางผู้ติดเชื้อในไทยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนรัฐบาลต้องออกคำสั่งล็อกดาวน์เข้มข้น 13 จังหวัด หวังป้องกันการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ศัตรูตัวร้ายที่กำลังกัดกินเศรษฐกิจประเทศให้พังย่อยยับ และถดถอยลงไปทุกวินาที
 
 
การที่รัฐออกมาประกาศล็อกดาวน์ครั้งนี้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต่างไม่พอใจ และถามถึงมาตรการเยียวยาที่ ‘เหมาะสม’ จากการที่ธุรกิจของพวกเขาต้องหยุดชะงักลงทันทีเมื่อคำสั่งถูกบังคับใช้
 
 
ผู้คนที่เดือดร้อนต่างนำทรัพย์สินหรือสินค้าที่พอมีมูลค่า ไปยังโรงรับจำนำใกล้เคียง เพื่อขอกู้ยืมเงินสดมาหมุนเวียนใช้จ่ายก่อน เพื่อให้พวกเขาได้มีชีวิตรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้
 
 
แต่วันแล้ววันเล่า สถานการณ์ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ประชาชนเริ่มแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน แม้แต่ ‘โรงรับจำนำ’ เองก็เริ่มสั่นสะเทือน เมื่อผู้คนไม่มีเงินมาไถ่ของคืน
 
 
 
โรงรับจำนำยังจะเจ๊ง วิกฤตหนักกว่า ‘ต้มยำกุ้ง’
 
 
ณ โรงรับจำนำในกรุงเทพฯ ของดนัย ทองที่ลูกค้าต่างเอามาจำนอง ยังคงมีรายชื่อคงค้างอยู่ในบันทึกสมุดบัญชีปกไม้ ที่เราเห็นทั่วไปตามร้านขายของชำต่าง ๆ
 
 
ดนัย ตั้งวัฒนากูล เป็นบุคคลหนึ่งที่เฝ้ามองเศรษฐกิจไทย และอยู่มาทุกยุคทุกสมัยของวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ
 
 
นับตั้งแต่เขาเปิดธุรกิจโรงรับจำนำในปี 1989 ไม่มีวิกฤตไหนจะสามารถนำมาเทียบกับวิกฤตในครั้งนี้ได้ เขาบอกว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าและนาฬิกาหลายเรือนต้องถูกยึด เมื่อเศรษฐกิจพังทลายหลังการระบาดระลอกสามของโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดที่ไทยยังไม่สามารถผ่านไปได้
 
 
“ผู้คนไม่มีสิ่งของไหนมาจำนำแล้ว พนักงานขายหลายคนของเรายังบอกว่ามันแย่ยิ่งกว่าวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ เสียอีก อย่างน้อยตอนนั้นพวกเขายังมีงานทำ แต่นี่พวกเขาไม่เหลืออะไรแล้ว” เขากล่าวถึงวิกฤตทางการเงินที่ล่มสลายในปี 1997 ที่กวาดล้างเงินออมของคนไทยนับล้าน ก่อนที่จะกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
 
 
คนไทย วิกฤตหนัก กู้เงินมากขึ้น
 
 
ก่อนหน้านี้ คนไทยมีพฤติกรรมการกู้ยืมเงินหนักที่สุดในเอเชีย และมียอดหนี้สะสมกองเป็นภูเขาที่มูลค่าสูงถึง 14 ล้านล้านบาท ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 จะมากระทบกับเศรษฐกิจ
 
 
ดนัย บอกว่า ช่วงเวลานี้แตกต่างกว่าช่วงอื่น ๆ ลูกค้าหลายคนของเขาจมฝังรากลึกอยู่ในกองหนี้ ผู้คนล้มเหลวในการชำระหนี้ในช่วง 5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สามารถไถ่ของคืนได้ก่อนจะหลุดจำนำ บางคนไม่มีเงินมาจ่ายแม้กระทั่งดอกเบี้ย 1.5% ด้วยซ้ำ
 
 
“เรายืดสัญญาให้ออกไปเป็น 6 หรือ 7 เดือน ซึ่งหมายความว่าของพวกเขาที่เอามาจำนำ จะยังอยู่กับเราต่อไป แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่สามารถนำเงินมาไถ่คืนได้” ดนัย กล่าว
 
 
 
ไทยต้องชนะ?
 
 
ในช่วงที่ผ่านจุดวิกฤตก่อนหน้านี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า ไทยจะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งในเดือนตุลาคม แต่หากดูจากสถานการณ์ตอนนี้เหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้น
 
 
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ ได้แถลงภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ในขณะที่เริ่มมีการแพร่ระบาดระลอกสามว่า เขารู้สึกเจ็บปวดที่ต้องตัดสินใจออกมาตรการ เพราะรู้ว่าประชาชนกำลังเดือดร้อน อีกทั้งยังย้ำว่า “ประเทศไทยต้องชนะ” จากวิกฤตครั้งนี้
 
 
แต่จนถึงวันนี้ สถานการณ์การ 'เอาชนะ' ของไทย กลับดูเหมือนยิ่งไกลออกไปเรื่อย ๆ สังเกตได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
 
 
"เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นตัวเป็นรูปแบบ V-Shaped หรือแม้กระทั่ง U-Shaped ได้ ซึ่งเราเห็นหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากดำเนินการฉีดวัคซีนไปได้มาก ส่วนบ้านเรามันยังเป็นความฝันอันแสนไกล" ศ.ดร.ภวิดา ปานะนนท์ อาจารย์สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
 
 
 
GDP ไทยตกต่ำลง
 
 
เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ปรับการประมาณการณ์ของ GDP ในปี 2021 ลดลงจาก 3% เหลือเพียง 1.8% และในปี 2022 จะหั่นเหลือ 3.9% จาก 4.8% และยังคาดว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาหากการแพร่ระบาดยังคงอยู่
 
 
การประมาณการณ์ดังกล่าวขณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นไปในแง่ดี ในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบโดสแล้วเพียง 5% จากประชากรทั้งหมด 70 ล้านคน ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี พยายามดิ้นรนต่อสู้กับการแพร่ระบาด และรับมือกับความโกรธเกรี้ยวของประชาชน ต่อการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า
 
 
“การฉีดวัคซีนที่เร็ว, การตรวจหาเชื้อ และการติดตามที่เหมาะสม พร้อมกับตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจ คือหัวใจหลักในการฟื้นตัว” ศ.ดร.ภวิดา กล่าว และอธิบายถึงการทำงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวอย่างเลวร้ายในสองข้อแรก
 
 
 
บดขยี้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว
 
 
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นล้นหลามอย่างคาดไม่ถึง ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นกว่า 11,000 รายต่อวันเป็นครั้งแรกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่วันพฤหัสบดี (22 กรกฎาคม) ทางการไทย รายงานว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,655 คน เสียชีวิต 87 คน ขณะที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต้องเตรียมรับมือกับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงต้นเดือนสิงหาคม
 
 
กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลักที่ถูกปิดตั้งแต่ต้นเดือนนี้ ส่วนสายการบินในประเทศถูกระงับเที่ยวบิน จุดตรวจเมืองต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อควบคุมการเดินทางที่จำเป็นทั้งหมดในเมืองหลวง
 
 
สิ่งนี้เป็นการบดขยี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้นตัวเมื่อสิ้นปีที่แล้ว และเดือนเมษายนมีแรงงานหลายคนถูกผลักออกนอกระบบ ตั้งแต่พ่อค้าผลไม้, คนขายของกระจุกกระจิกยันหมอนวดทั้งหมดล้วนตกงาน หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นในระดับอันตรายถึง 90% ของ GDP
 
 
“คุณทราบดีว่าสิ่งต่าง ๆ มันแย่มาก เมื่อพนักงานออฟฟิศเริ่มนำอุปกรณ์ Gadget,โทรศัพท์ และโน้ตบุ๊กไปจำนำ ผู้คนไม่เหลืออะไรแล้วตอนนี้” ดนัย กล่าว
 
 
 
ต่างชาติวิ่งหนี ย้ายเงินไปลงทุนที่อื่น
 
 
บทวิเคราะห์ของ KKP Research ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้เปิดเผยว่า ไทยกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกลดลงในหลายมิติ โดยเฉพาะในด้านการส่งออก
 
 
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘มาเถอะจะคุย’ ของสำนักข่าว The Matter ระบุว่า งานวิจัยล่าสุดสะท้อนให้เห็นสัญญาณเตือนภัยของสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่กำลังเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะตอนนี้เรากำลังเจอความท้าทายจากโครงสร้างต่าง ๆ ทั้งประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, ภาคการท่องเที่ยวไม่เดินหน้าจากโควิด, รวมถึงกับดักรายได้ปานกลางที่มีมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดโควิด
 
 
นอกจากนี้ พิพัฒน์ ยังบอกอีกว่า ไทยอาจไม่สามารถกลับไปโตที่ 3% ได้อีกสักระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังเจอคือภาวะที่เศรษฐกิจไทยโตช้าลงไปเรื่อย ๆ
 
 
 
ไทยหวังพึ่งพานักท่องเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้ง
 
 
นักท่องเที่ยวหลายคนเริ่มเดินทางไปเยือนภูเก็ตและเกาะสมุย หลังกลับมาเปิดต้อนรับอีกครั้ง ผู้สังเกตุการณ์ในภาคอุตสาหกรรม บอกว่า ผู้คนจำนวนมากไม่น่าจะหลั่งไหลเท่ากับเมื่อก่อน โดยเฉพาะในประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนมากพอในการต่อกรกับการระบาด
 
 
ธนาคารโลก บอกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตัวเลขของผู้มาเยือนในสิ้นปีนี้ มีแนวโน้มอยู่ที่เกือบ 6 แสนคน จากเดิมที่ประมาณไว้ 4-5 ล้านคน ก่อนการแพร่ระบาดครั้งล่าสุดของไวรัส
 
 
"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีที่แล้ว 'หยุดการถดถอยของเศรษฐกิจ' ” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเพิ่มโอกาสในการกู้ยืมมากขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายยังคงบีบรัดผู้คนในช่วงที่มีการแพร่ระบาด
 
 
“การฟื้นตัวอาจไม่ทันท่วงทีอย่างที่เราหวังไว้” เขายอมรับ โดยเสริมว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาการหยุดพักชำระหนี้ต่อไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้
 
 
แต่อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. ภวิดา ได้บอกว่า ในระยะยาวประเทศไทย จำเป็นต้องวางแผนการยืดหยุ่นเศรษฐกิจอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ การพึ่งพานักท่องเที่ยวและการส่งออกที่มากเกินไป ทำให้ประเทศต้องสูญเสียอย่างหนักในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง