มาเริ่มจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ ซึ่งสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของคนไทยสถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะเกิดขึ้นตั้งแต่ยัง “ไม่ลืมตาดูโลก”
โดยอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “ดร.วิรไท สันติประภพ” กล่าวไว้ในงานสัมนาวิชาการประจำปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศ ระบุว่า “คนไทยต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทางโอกาสตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา” โดยเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความรู้น้อย มีทุนทรัพย์น้อย มักจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อโตขึ้นมาก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา บริการสุขภาพ และทรัพยากรต่างๆ แตกต่างกัน เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดี เกือบทั้งหมดมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
โดยจากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติล่าสุดพบว่า คนรวยมีโอกาสเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีสูงกว่าคนจน 17.3 เท่า หรือคนที่รวยสุด 10% มีโอกาสเข้าเรียนต่อปริญญาตรี 65.6% ขณะที่คนจนสุด 10% มีโอกาสเรียนต่อปริญญาตรีเพียง 3.8%
นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราการเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.ป) ของคนเมืองสูงกว่าคนชนบทมาตลอดเวลา ขณะที่การเข้าถึงการศึกษาในระดับประถมเริ่มเท่าเทียมแต่มีความเหลื่อมล้ำในระดับการศึกษาสูงขึ้น โดยในเขตกรุงเทพมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากที่สุด
ขณะที่วิกฤตโควิดอาจ “ซ้ำเติม” ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีโอกาสสูงขึ้นอีก เนี่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้การเรียนการสอนต้องปรับเป็นทางไกล หรือเรียนผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้นคนจนและกลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มที่ขาดความสามารถในการเรียนทางไกล เนื่องจากขาดอุปกรณ์ ขาดอินเทอร์เน็ตที่ดี และสถานที่อาจไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียน และในบางกรณีที่พ่อแม่ขาดรายได้รุนแรง เด็กก็อาจต้องพักการเรียนเพื่อไปช่วยหารายได้อีกด้วย
ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้ส่งผลต่อไปยังโอกาสในการทำงาน การประกอบกิจการ และรายได้ที่แตกต่างกัน ความได้เปรียบเสียเปรียบยังสั่งสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงอายุ และส่งผ่านต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอีกอีก
อย่างไรก็ดี สถานกรณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศด้านรายได้ พบว่า รายได้เฉลี่ยของคนจนที่สุดและรวยที่สุดแม้ว่าจะมี “แนวโน้มที่ลดลง” แต่ยังคงมีความแตกต่างกันมาก โดยสัดส่วนรายได้ของคนรวยที่สุด (กลุ่มTop10%) สูงกว่าสัดส่วนรายได้ของคนจนที่สุด (Bottom) ถึง 19.29 เท่า สะท้อนถึงการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มบนและการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึงไปสู่คนกลุ่มล่าง
แต่มีปัจจัยหลายประการที่น่ากังวลและอาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงมีความ "ไม่ยั่งยืน" รวมถึงวิกฤตโควิดที่ "ซ้ำเติม" ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
โดยจากงานวิจัยเรื่อง “สามทศวรรษของปัญหาความเหลื่อมล้ำและความท้าทายใหม่” ดร.ศุภนิจ ปิยะพรมดี University College London หนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2531-2562) ที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำขึ้นในรูปของดัชนีความเหลื่อมล้ำ พบว่ามี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคมีแนวโน้มลดลง
ปัจจัยแรก แม้ว่าครัวเรือนทุกกลุ่มอายุจะมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลง แต่พบว่า กลุ่มเตรียมเกษียณหรืออายุ 55-69 ปี และครัวเรือนสูงอายุ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป มีการพึ่งพารายได้จากเงินโอนมากขึ้น ทั้งเงินช่วยเหลือจากรัฐและญาติพี่น้อง
โดยพบว่ากลุ่มอายุ 55-59 ปี สัดส่วนที่ “พึ่งเงินโอนเป็นรายได้หลัก” เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 เป็น 12 ในรอบ 30 ปีที่ผ่าน และกลุ่มอายุ 60-64 ปี มีสัดส่วนที่พึ่งเงินโอนเป็นรายได้หลักเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็น 27
ซึ่งหากกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไป “ขาดรายได้” จากเงินโอนจะทำให้ระดับความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ไม่ลดลงนัก ในทางตรงกันข้ามกับเหลื่อมล้ำมากขึ้น
ขณะเดียวกันเงินโอนส่วนใหญ่ยังเป็นเงินช่วยเหลือของญาติพี่น้องในครัวเรือน มากกว่าเงินช่วยเหลือจากรัฐ การพึ่งพาเงินโอนจึงเป็นเรื่อง “น่ากังวล” เพราะเงินช่วยเหลือดังกล่าวมีความไม่แน่นอน รวมทั้งการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สศช. พบว่า ปี2583 ผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าเด็กสูงถึง 12.1 ล้านคน ขณะที่วัยแรงงานมีจำนวน 36.5 ล้านคน
และ ในปี 2583 อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2563 โดยในปี 2563 วัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในปี2583 จะลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน
นั่นหมายความว่าเรากำลังมีครัวเรือนสูงอายุมีมากขึ้น ขณะที่ครัวเรือนรุ่นหลังมีบุตรหลานน้อยลง ยิ่งทำให้การพึ่งพาลูกหลานมีความยากลำบากขึ้น
ส่วนปัจัยที่สอง ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลงคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนเกษตรกรรมมีระดับสูงขึ้น แต่ได้สะท้อนในดัชนีตัวรวม เพราะสัดส่วนของภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงมากในสามทศวรรษที่ผ่านมา และความเหลื่อมล้ำของรายได้นอกภาคเกษตรได้ลดลง
ทั้งนี้ “ครัวเรือนภาคเกษตร” มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะ “ครัวเรือนภาคเกษตร” ที่ยากจน พบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ ไม่ได้เป็นตัวเงิน เช่น ผลผลิตที่ปลูกได้ ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรมี “สภาพคล่องต่ำ”
ขณะที่ครัวเรือน “นอกภาคเกษตร” มีความเหลื่อมล้ำลดลง แต่กลุ่มที่มีระดับการศึกษามัธยมปลาย ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 28 เป็นกลุ่มที่มี “รายได้ไม่เติบโต” มากนักในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงน่ากังวล
รวมถึงการบริโภค พบว่าทุกกลุ่มมีรายจ่ายหลัก คือ บ้าน อาหาร ค่าเดินทาง แต่สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 81 ของรายจ่าย ทำให้เมื่อเกิดปัญหาด้านรายได้หรือสูญเสียรายได้ไป กลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำจะต้องลดการบริโภคสินค้าจำเป็น
ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นประมาณร้อยละ 66 ซึ่งหากรายได้ลดลง ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น การท่องเที่ยวและสันทนาการ ลงได้ เป็นต้น
สำหรับผลกระทบความเหลื่อมล้ำที่เกิดวิกฤตโควิด 19 จากผลการวิจัยพบว่า ทำให้อัตราการมีงานทำในภาพรวมลดลง 0.87% หรือคนตกงานราว 430,000 คน ตัวเลขนี้แม้จะไม่มาก แต่เมื่อดูในรายละเอียดกลับพบว่า ผู้ที่ยังมีงานทำแต่มีชั่วโมงการทำงานเป็น “ศูนย์” เพิ่มจากประมาณร้อยละ 1.5 ในช่วงก่อนเกิดโควิด 19 เป็นร้อยละ 6.8 หรือได้รับผลกระทบจากโควิดประมาณ 5.4% คิดเป็นจำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบราว 2 ล้านคน
ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการมาตรการล็อคดาว์น เช่น โรงแรม สถานบันเทิง และบริการอื่นๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ฯลฯ
นอกจากนี้ กลุ่มที่ถูกตัดหรือลดเงินเดือนจะเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาระดับประถมและมัธยม ขณะที่ผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาแม้จำนวนชั่วโมงทำงานจะลดลง แต่โดยเฉลี่ยมิได้ถูกลดเงินเดือน
จากผลวิจัยฯ เริ่มเห็นกลุ่มที่จบประถมและมัธยม มีการ “ลดเงินโอน” ช่วยเหลือญาติหรือพ่อแม่พี่น้อง ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงจะลดรายจ่ายที่เกี่ยวกับความฟุ่มเฟือยออก เช่น ท่องเที่ยว หรือดูหนังฟังเพลง
เพราะฉะนั้นวิกฤตโรคระบาดโควิด 19 ทำให้ “คนจน” ได้รับผลกระทบที่มากกว่า ขณะที่ “คนรวย” หรือผู้มีรายได้สูงสามารถได้ประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและกลายเป็นการออมแทน
นอกจากนี้ การเกิดโรคระบาดโควิด 19 ยังทำให้เห็นความเปราะบางของกลุ่มรายได้ต่ำ กลุ่มแรงงานทักษะต่ำ ประสบภาวะไร้งานแบบเต็มตัวและแบบแฝง เงินเดือนลดลงและไม่พอใช้จ่าย ขณะที่กลุ่มแรงงานทักษะสูงได้รับผลกระทบไม่มากนักและสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ในช่วงวิกฤติ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายหลายอย่างที่ดูแลกลุ่มคนรายได้ต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ รวมทั้ง การมีนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อลดค่าใช้จ่าย นโยบายเหล่านี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคในปัจจุบัน
แต่หากมองในภาพใหญ่ นโยบายเหล่านี้ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสนอว่า โดยเฉพาะในส่วนของครัวเรือนสูงอายุควรจะหาแนวทางให้ครัวเรือนรายได้ต่ำสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เช่น การเปลี่ยนความคิดของทุกฝ่ายที่ว่า อายุ 55-60 ปี คือ อายุเกษียณของไทย ซึ่งนับว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับอายุเกษียณของต่างประเทศ จึงต้องสร้างทางเลือกให้มากขึ้นให้กับคนที่ยังอยากทำงานต่อ ให้มีงานทำที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเป็นทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งด้านเวลาการทำงานและสถานที่ทำงาน สนับสนุนให้นายจ้างเพิ่มพูนทักษะให้เป็นที่ต้องการ หรือการที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเอง ต้องเลิกแนวคิดการคัดเลือกผู้สมัครงานที่ว่า ผู้สมัครส่วนใหญ่ต้องมีอายุไม่เกิน 35 และปรับแก้กฏหมายเพื่อลดการกีดกันในตลาดแรงงานด้วยเกณฑ์อายุ
นอกจากนี้ ควรต้องมีการปรับแนวคิดเรื่องรายได้หลังเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการออม หรือปฏิรูประบบบำนาญ ให้ครัวเรือนทุกกลุ่มอาชีพ มีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอและแน่นอน และระบบมีความยั่งยืนทางการคลัง รวมทั้ง การใช้ Big Data ด้านตลาดแรงงานของหลายกระทรวง มาวิเคราะห์และออกแบบแนวนโยบายในการแก้ปัญหาที่ดียิ่งขึ้น
จะเห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยแม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่เปราะบางมาก และมีโอกาสรุนแรงมากขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะครัวเรือนผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำ ที่มีความอ่อนไหวจะถูกกระทบมากที่สุดจากวิกฤตโควิดและปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้
และนี่คืออีกโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องวางนโยบายแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหารุนแรงและเรื้อรังจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนในระยะยาว
ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน COVID-19 ซ้ำเติม ความเหลื่อมล้ำของไทยรุนแรงขึ้น
ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Vm09EmSU7gw