ทำความรู้จัก “มือฆ่า HR” เมื่อพนักงานจับปืนล้างแค้น ฝ่ายบุคคล-ผู้บริหาร ที่เอาเขาออก
ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานและผู้บริหารเป็นปัญหาโลกแตก หากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่หากเป็นความสัมพันธ์ที่เลวร้าย แรงงานที่เป็นผู้ต่ำลำดับกว่าก็ต้องอดทนร่วมงานด้วยกัน หรือหากทนไม่ไหวก็ทางใครทางมัน
แต่ไม่ใช่กับ กาเบรียล ฟงแต็ง (Gabriel Fortin) เขาไม่ยอมเป็นเหยื่อของระบบการทำงานอีกต่อไป และได้ทำการสังหารผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลในบริษัทที่เขาร่วมงานด้วย จนได้รับฉายา “มือฆ่า HR” (HR Killer) ที่สะเทือนสังคมฝรั่งเศส
แม้ผู้ต้องหาจะไม่ได้เปิดเผยแรงจูงใจออกมาชัดเจน แต่หลักการที่นำมาพิจารณาคดี อาจจะอยู่ที่การบีบเค้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการ “ปลดแรงงานออกมหาศาล (Massive Layoff)” ในบริบทเศรษฐกิจฝรั่งเศสและเศรษฐกิจโลก
ตำนาน … แรงงานสู้กลับ
ในปี 2021 ที่เมืองวาล็อง ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส กาเบรียล ฟงแต็ง วิศวกรในวัย 48 ปีที่กำลังว่างงาน ได้ก่อเหตุแสนอุกอาจโดยฆาตกรรม 3 ราย ทั้งยังได้พยายามที่จะสังหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลอีกท่านหนึ่ง แต่ทำได้เพียงให้รับบาดเจ็บเท่านั้น
ตำรวจได้สืบสาวจนขยายผลจับกุมได้สำเร็จ ในชั้นศาล เขาได้ให้เหตุผลในการสังหารว่า “ผมเป็นเหยื่อ … พวกนี้สมควรต้องรับผิดชอบที่ทำกับผมไว้” เป็นเหตุผลที่คลุมเคลือ ดูไม่สมเหตุสมผลใด ๆ เลย เพราะฟงแต็งไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหยื่อทั้ง 3 รายโดยตรง
สื่อฝรั่งเศสได้มีการสืบสาวต่อไปจนพบว่า ฟงแต็งมีความเกี่ยวข้องกับเหยื่อ 2 ใน 3 ราย เพราะเมื่อปี 2006 เหยื่อ 2 รายนี้ได้ทำการ “บีบเขาออกจากงาน” โดยที่เขาไม่ยินยอม และไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้ตามที่เขาต้องการ ส่วนเหยื่ออีกราย ก็ได้กระทำแบบเดียวกันกับเขาในปี 2009
แต่ว่าเหยื่อรายที่เขาสังหารไม่สำเร็จ ทำงานในแผนกจัดหางานที่เมืองวาล็อง ซึ่งไม่ได้มีความบาดหมางอะไรเป็นทุนเดิม ตรงนี้ เจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตว่า เหยื่อรายนี้อาจจะไม่เต็มใจในการจัดหางานให้แก่เขา เขาจึงได้งานที่ล่าช้าและไม่ตรงใจ
กระนั้น ในการรับทราบข้อกล่าวหา ฟงแต็งกลับกล่าวว่า “พวกท่านโกหก โกหกทั้งนั้น” และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทำให้ จนถึงทุกวันนี้ คดีของฟงแต็งก็ยังเป็นปริศนาในแง่ของ “แรงจูงใจ” แม้เขาจะได้รับโทษ “จำคุกตลอดชีวิต” ก็ตาม
Massive Layoff
กระนั้น เหตุผลที่พอจะทำความเข้าใจจากเรื่องนี้ได้ นั่นคือ กระแส “Massive Layoff” ที่เกิดขึ้นในสากลโลก และลุกลามมาถึงฝรั่งเศส โดยเฉพาะในช่วงหลังศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา มีอัตราปลดพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการลอยแพ “ด้วยเหตุผลส่วนบุคคล”
กราฟของงานศึกษา An anatomy of the French labour market: Country case study on labour market segmentation จะเห็นได้ว่า Layoff ด้วยเหตุผลส่วนบุคคล คิดเป็นเกินกว่า 60% ในช่วงปี 2004 ถึง 2009 เหนือกว่า Layoff ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและสภาพคล่องของบริษัทประมาณ 20-30% เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้การปลดพนักงานในแต่ละครั้ง ทำให้คิดได้ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะดีหรือไม่ดี บริษัทจะไปรอดหรือไปไม่รอด หากต้องการที่จะ ปลดพนักงานจริง ๆ แรงงานก็ต้องออกไปโดยที่ถามหาเหตุผลที่สมเหตุสมผลไม่ได้
ในงานศึกษาเดียวกัน ยังมีกราฟที่ชี้ให้เห็นว่า ช่วงปี 2006-2009 ในฝรั่งเศส อัตราการจ้างงานและการว่างงานแทบจะเท่ากัน และอัตราการว่างงานน้อยกว่าการจ้างงานเสียด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่า เหตุผลเชิงมหาภาค อย่างเรื่องเศรษฐกิจและสภาพคล่อง “ไม่เป็นผล” ต่อเรื่องของการปลดพนักงานแต่อย่างใด
ตรงนี้ ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ขับเคลื่อนให้ฟงแต็ง ฆาตกรรม HR ก็ได้ เพราะหากอ่านพฤติกรรมของฟงแต็งดี ๆ ก็จะพบว่า ผู้ต้องหาแทบจะโทษเหยื่อว่าทำให้เขานั้น “เป็นเหยื่อ” โดยตลอด เรื่องนี้ จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้เลย นอกจากเรื่อง “ระบบแรงงาน” ทำร้ายชีวิตเขาจนป่นปี้
“ส่วนมากพวก HR ทำการ Layoff พนักงานโดยกล่าวว่า สู้ต่อไป ทำในสิ่งที่คุณควบคุมได้ และมุ่งหน้าทำงานไปเรื่อย ๆ … ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เลือดเย็นแบบสุด ๆ”
แอริน ซัมเมอร์ อดีต HR ของเฟซบุ๊ค ได้กล่าวไว้กับ HRD ซึ่งชี้ให้เห็นว่า HR นั้นมีหน้าที่เพียงบอกกล่าวว่าพนักงานนั้นถูกปลดออกเท่านั้น ไม่ได้มาสนใจความรู้สึกของผู้ถูกให้ออกว่าจะแตกสลาย ทุกข์ใจ หรือโกรธแค้นเพียงใด
“HR ควรมีความเห็นอกเห็นใจ คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาของคำกล่าวของตนเอง และเลือกใช้คำกล่าวให้เหมาะสมกับพนักงานที่ถูกปลดออกนั้น ๆ” เธอกล่าวเสริม
เพราะอย่าลืมว่าแรงงานก็คือมนุษย์ มีอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่พระอิฐพระปูน เมื่อถึงจุดที่รับไม่ไหวจริง ๆ ก็อาจจะมีกรณีที่ปะทุความเดือดดาลออกมาแบบ มือฆ่า HR อีกก็เป็นได้
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
บทความ An anatomy of the French labour market: Country case study on labour market segmentation
https://www.hcamag.com/us/specialization/employment-law/hr-killer-goes-on-trial-in-france/449273