รีเซต

"สภาวะอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว"คืออะไร? ภัยพิบัติที่ทั่วโลกหลีกเลี่ยงไม่ได้

"สภาวะอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว"คืออะไร? ภัยพิบัติที่ทั่วโลกหลีกเลี่ยงไม่ได้
TNN ช่อง16
23 กรกฎาคม 2568 ( 13:35 )
5

“สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว” หรือ “Weather Whiplash” กลายเป็นศัพท์ใหม่ในยุคโลกเดือด ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวมากขึ้นเพื่อเอาตัวรอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนฉับพลัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติมากมาย โดยมีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น และรุนแรงมากขึ้น โดยที่เราแทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย

 

สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วคืออะไร?

สภาวะอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว หรือ Weather Whiplash คือ สภาวะอากาศที่ผิดปกติอย่างรุนแรง สภาพอากาศมรการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากพื้นที่ที่เคยร้อนและแห้งแล้งกลับมีฝนตกหนัก จนเกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรวดเร็ว และในทางกลับกัน พื้นที่ที่มีฝนตกหนักอยู่ดีๆ ก็แห้งแล้งภายในระยะเวลาไม่นาน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศและธรรมชาติ

"สภาวะอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว" แตกต่างจาก “สภาพอากาศสุดขั้ว” ตรงที่พื้นที่ไหนร้อนก็จะยิ่งร้อน ยิ่งแห้งแล้งมากขึ้น และกินระยะเวลายาวนานขึ้นจากเดิม หรือพื้นที่ไหนอากาศหนาวเย็นก็จะเจอกับคลื่นความหนาว อุณหภูมิลดต่ำลงฉับพลัน อากาศหนาวจัดมากขึ้นกว่าเดิม แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์ และพืชทั้งสิ้น หากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดได้ ซึ่งสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ยังสร้างความกังวลให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เนื่องจากการคาดการณ์สภาพอากาศในระยะยาวจะทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม นั่นหมายถึงระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมและวางแผนเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติจะสั้นลง เพิ่มความเสี่ยงต่อความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้นอย่างประเมินค่าไม่ได้

ต้นเหตุของ “สภาวะอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว” คืออะไร?

การเปลี่ยนเปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน สามารถเกิดขึ้นได้ตามวัฏจักรธรรมชาติ ซึ่งตามปกติแล้วจะต้องใช้ระยะเวลาหลายร้อยไปจนถึงหลายพันปี แต่ปัจจุบันกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เป็นตัวเร่งให้ระยะเวลาสั้นลงเหลือเพียงแค่ไม่กี่สิบปีเท่านั้น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล พลังงานถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล ส่งผลกระทบกับชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และพื้นโลกร้อนขึ้นจากเดิม แหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติถูกทำลาย


โลกร้อนเชื่อมโยงกับภัยพิบัติธรรมชาติ

ข้อมูลจากศูนย์บริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส ระบุว่า เพียงแค่เดือนแรกของปี 2025 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงกว่าในช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.75 องศาเซลเซียสซึ่งมากกว่าตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียส ที่ทั่วโลกตั้งเป้าควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกตามข้อตกลงปารีส โดยช่วงระยะเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติไปเรื่อยๆ อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ชั้นบรรยากาศเพิ่มความสามารถในการกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น 7% เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วมากขึ้น และรุนแรงขึ้น ในอนาคตโลกของเราอาจเจอกับความแปรปรวนของสภาพอากาศในช่วงระยะเวลาที่สั้นลง อาจเกิดขึ้นในแบบรายเดือน รายฤดูกาล หรือรายปีเลยทีเดียว

ผลกระทบจากสภาพอากาศสุดขั้ว

สภาวะอากาศสุดขั้ว ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากมายหลายด้าน อาทิเช่น

  • คลื่นความร้อน

อากาศร้อนขึ้น กระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง 

  • ภัยแล้ง

กระทบต่อภาคการเกษตร การอุปโภค บริโภค และยังนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหารได้

  • ฝนตกหนักและน้ำท่วม

ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมไปถึงระบบสาธารณูปโภค

  • ไฟป่า

อากาศที่ร้อนและแห้งแล้งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า กระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางธรรมชาติ นอกจากนี้ควันไฟยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ 


ประเทศไทยเสี่ยงเสียหายจากสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว

หลายประเทศทั่วโลกอาจต้องรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันจนไม่ทันได้ตั้งตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว รวมถึงประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบระดับรุนแรง 

สอดคล้องกับข้อมูลจาก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า การประเมินสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วในอนาคตมีแนวโน้มจะเกิดบ่อยขึ้นเฉลี่ย 170% ในช่วงระยะเวลาที่สั้นลง แต่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงได้รับผลกระทบรุนแรง บางจังหวัดมีแนวโน้มร้อนและแห้งแล้งกลับกลายเป็นฝนตกหนักจนน้ำท่วม ขณะที่บางจังหวัดอาจเกิดสลับขั้วกัน ดังนั้นการเตรียมความพร้อม และประเมินความเสี่ยง ความรุนแรงในรายพื้นที่เป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน เนื่องจากพื้นที่ 46.7% ของไทยเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาอาศัยดินฟ้าอากาศเป็นหลัก

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง