รีเซต

ไขข้อสงสัย ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้าน กระทบใครบ้าง?

ไขข้อสงสัย ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้าน กระทบใครบ้าง?
TNN ช่อง16
7 สิงหาคม 2564 ( 17:29 )
352
1
ไขข้อสงสัย ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้าน กระทบใครบ้าง?

จากกรณีสถาบันการคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากมาลงอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน จากเดิมอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน ซึ่งหลายคนน่าจะตกใจ ว่าเงินฝากของเราถูกลดความคุ้มครองด้วยหรือเปล่านะ หรือถ้าฝากเงินเกินกว่านั้นจะยังได้รับความคุ้มครองอยู่หรือไม่ 

ทำความเข้าใจกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ฉบับนี้ก่อนว่า จริงๆแล้วการปรับลดวงเงินคุ้มครองเป็นกฎหมายที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะคำนึงถึงวัตถุประสงค์ 2 เรื่องหลัก คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และการคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย ไม่ได้เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 และปรับลดวงเงินคุ้มครองแต่อย่างใด 

โดยผู้ที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากนั้น จะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินของไทย  ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากรวมทั้งสิ้น 35 แห่ง โดยคุ้มครองบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท ได้แก่

1.เงินฝากกระแสรายวัน

2.เงินฝากออมทรัพย์ 

3.เงินฝากประจำ 

4.บัตรเงินฝาก 

และ 5.ใบรับฝากเงิน 

ซึ่งทุกประเภทต้องเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น เงินฝากสกุลอื่นจะไม่ได้รับความคุ้มครองดังนั้นถ้าคนที่ไม่ได้มีเงินในบัญชีเป็นล้านบาท ไม่ต้องตกใจ ส่วนใครที่มีเงินเก็บในบัญชีเยอะๆ หากวันไหนธนาคารล้ม ปิดกิจการเมื่อไหร่ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะจ่ายเงินฝากคืนภายใน 30 วัน เราไม่ต้องยื่นคำขอ เดี๋ยวทางธนาคารก็จะให้มารับเงินเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากดูสถานะของสถาบันการเงินในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 2540 แล้วหากผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้รับความคุ้มครองโดยอัติโนมัติทันทีที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งผู้ฝากเงินไม่ต้องดำเนินการใดๆ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง โดยวงเงินคุ้มครองจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ของผู้ฝากแต่ละรายในทุกสาขาและทุกบัญชีมาคำนวณรวมกัน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ผลกระทบภายหลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงินนั้น มองว่า ผลกระทบคงไม่มาก คงไม่ได้เห็นการไหลออกของเงินฝากที่อยู่ในสถาบันการเงินและหากดูการปรับลดวงเงินคุ้มครองทยอยปรับลดลงมาเรื่อยๆ จากเดิมที่คุ้มครองทุกบาท สะท้อนว่าภาคประชาชนยังคงเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน และการลดวงเงินลงยิ่งสะท้อนความแข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงิน ทั้งในเรื่องของเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง สภาพคล่อง และความเชื่อมั่นแม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม

แล้วบัญชีที่ไม่ได้รับความคุ้มครองมีอะไรบ้าง? 

1. เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 

2. เงินลงทุนในตราสารต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน SSF RMF

3. เงินฝากในสหกรณ์ 

4. แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน 

และ 5. เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)

e-Money สถาบันคุ้มครองเงินฝากคุ้มครองด้วยไหม?

อาจจะมีคนสงสัยด้วยว่า แล้ว e-Money สถาบันคุ้มครองเงินฝากคุ้มครองด้วยไหม? เพราะปัจจุบันมีหลายธนาคารที่มีรูปแบบของ e-Money หลายประเภท เช่น อี-วอลเล็ต (e-Wallet) ในแอปฯ หรือบัตรพรีเพด (Prepaid) ที่ใช้จ่ายแทนเงินสด ซึ่งขณะนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังถกกันอยู่ว่า  e-Money ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝากหรือไม่ แถมถ้าจะทำ ยังต้องมีข้อมูลลูกค้าทุกรายของผู้ให้บริการ e-Money เพื่อคุ้มครองได้อย่างทั่วถึง

แล้วเจ้าของเงินฝากได้รับผลกระทบแค่ไหน? 

 จากสถิติที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากรายงาน พบว่า ในวงเงินคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท จะมีผู้ที่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนที่ 82.07 ล้านราย คิดเป็น 98.03% ของผู้ฝากทั้งระบบ ถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ  หรือจะพูดง่ายๆก็คือ มี 82.07 ล้านบัญชีที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดเป็น 98.03% ถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากนับเป็นจำนวนคนอาจจะนับยาก เพราะว่า 1 คนอาจจะมีหลายบัญชีกระจายหลายธนาคารก็ได้ รวมถึงอาจจะเก็บเงินในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การลงทุนในหุ้น, ประกัน เป็นต้น


แม้ว่าเงินฝากจะลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท แต่หากดูตัวเลขเงินฝากบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้รับการคุ้มครองในแง่จำนวนบัญชีครอบคลุมถึง 98.3% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด จากปัจจุบันมีอยู่ 109 ล้านบัญชี และครอบคลุมในแง่เม็ดเงิน 21% จากยอดเงินฝากรวมที่มีอยู่ 15.2 ล้านล้านบาท  ในจำนวนดังกล่าวมีสัดส่วนเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาท ประมาณ 80% หรือคิดเป็นวงเงินฝากอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท และจำนวนบัญชีอยู่ที่ 1.7 ล้านบัญชี ซึ่งในช่วงก่อนโควิด-19 จนถึงปัจจุบันราว 1 ปี จะเห็นว่าเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาทยังมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง โดยมีเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 6.7 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินฝากที่มีต่ำกว่า 1 ล้านบาทไม่เห็นการเติบโต

หากแบ่งจำนวนเงินฝากที่มีอยู่ 15.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินฝากบุคคลธรรมดา 8.4 ล้านล้านบาท และภาคธุรกิจ (นิติบุคคล) มีอยู่ 4.8 ล้านล้านบาท หากพิจารณาเงินฝากนิติบุคคลที่มีวงเงินเกิน 1 ล้านบาท ในแง่เม็ดเงินจะสูงถึง 96% ของวงเงินฝาก และบุคคลธรรมดาที่มีวงเงินเกิน 1 ล้านบาท จะมีสัดส่วนน้อยกว่าประมาณ 65% และในแง่จำนวนบัญชีอยู่ที่ประมาณ 1.4%


จริงๆแล้วการลดวงเงินทยอยลดลงมาหลายรอบ ซึ่งแบงก์ก็มองว่ารอบนี้มองว่าคงไม่ได้เห็นเงินไหลออกจากแบงก์มากนัก ในแง่ของผลกระทบจึงไม่มาก  ขณะเดียวกัน ปัจจุบันหลายธนาคาร ไม่ได้ซีเรียสกับเรื่องลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เพราะถ้าเป็นลูกค้า กลุ่มมั่งคั่ง (Wealth) ที่มีเงินฝากมากกว่า 1-2 ล้านบาทขึ้นไป ก็มีที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล (Financial Advisor) คอยดูแลลูกค้ากลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด  ขณะเดียวกันปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากลดลงเหลือ 0.25% ทำให้คนที่มีเงินเย็นในบัญชี โยกเงินไปลงทุนอย่างอื่นหมดแล้ว เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรือกองทุนต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยเกษียณที่อาจจะลืมไปว่าเคยมีเงินฝากเก็บไว้  และหากจะมองถึงโอกาสที่แบงก์จะล้มลงเหมือนอย่างวิกฤตปี 40 แล้วยังเป็นไปได้ยาก ด้วยฐานะและเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งยังแข็งแกร่ง จากประสบการณ์ที่เคยเจ็บมาแล้ว ทำให้ดำเนินงานด้วยความระมัดระวังมากขึ้น  และยังมีธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด คนที่เป็นเศรษฐีเงินฝากก็คงจะสบายได้


ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม สถาบันคุ้มครองเงินฝากคลิกลิงก์ https://www.dpa.or.th/site/index





ข่าวที่เกี่ยวข้อง