รีเซต

จับตา! "ลิซ ทรัสส์" ลาออก ใครจะขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป

จับตา! "ลิซ ทรัสส์" ลาออก ใครจะขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2565 ( 12:03 )
63
จับตา! "ลิซ ทรัสส์" ลาออก ใครจะขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไป

ลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร  หลังจากดำรงตำแหน่งนายกสหราชอาณาจักรได้เพียง 45 วัน ลิซ ทรัสส์ ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ให้เหตุผลว่า ไม่สามารถทำในสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้

ลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) แถลงที่ถนนดาวน์นิ่งสตรีทเมื่อวานนี้ (20 ต.ค.) ว่า เธอเข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินอย่างมาก ครอบครัวและธุรกิจต่างกังวลเรื่องบิลค่าไฟ 

ขณะที่วิกฤตในยูเครนก็ซ้ำเติมอย่างหนัก  ซึ่งเธอได้รับเลือกจากพรรคอนุรักษ์นิยมเพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ 

เธอรู้ดีว่า ไม่สามารถดำเนินการตามสิ่งที่ให้คำมั่นไว้ขณะที่ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคได้ และได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อขอลาออกจากตำแหน่ง

ความเคลื่อนไหวของทรัสส์มีขึ้น หลังจากที่สมาชิกรัฐสภาจากพรรคอนุรักษ์นิยม หรือ พรรคทอรี ได้ออกมาเรียกร้องให้เธอลาออก เนื่องจากรัฐบาลของเธอทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะจากนโยบายด้านภาษีของเธอ 

ก่อนหน้านี้ทรัสส์ เพิ่งได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคเมื่อเดือนกันยายน แต่ก็ต้องสูญเสียอำนาจในการปกครอง หลังจากที่ต้องมีการกลับลำนโยบายภาษีของเธอครั้งใหญ่ เนื่องจากตลาดการเงินปั่นป่วนอย่างหนัก 

ด้านเกียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงานฝ่ายค้าน เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไปให้เร็วที่สุด หลังจากที่ทรัสส์ประกาศลาออก เนื่องจากความเห็นของประชาชนในเวลานี้ ได้เทคะแนนให้กับพรรคแรงงานมากกว่าพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างมาก 

การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2019 นั่นหมายความว่า ทรัสส์ ต้องลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นพรรคจะจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคใหม่ในสัปดาห์หน้า ผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แม้ประกาศลาออก แต่ลิซ ทรัสส์ จะยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าจะได้ผู้นำพรรคคนใหม่ 

สำนักข่าว BBC ได้เปิดเผยรายชื่อ ผู้สมัครที่มีศักยภาพบางส่วน ที่อาจกลายเป็นผู้นำคนใหม่แทนทรัสส์ได้ 

ใครจะมาแทนที่ ลิซ ทรัสส์?

รีชิ สุนัค 

คนแรกคือ รีชิ สุนัค คู่แข่งคนสำคัญที่เข้าไปถึงรอบสองคนสุดท้ายพร้อมกับลิซ ทรัสส์ ในการคัดเลือกผู้นำพรรคครั้งก่อน เขาได้รับการสนับสนุนมากที่สุดจากส.ส. อนุรักษ์นิยม

ระหว่างการหาเสียง เขาเตือนว่าแผนภาษีของทรัสส์จะทำลายเศรษฐกิจ แต่ข้อความของเขาไม่สามารถดึงดูดสมาชิกพรรคได้ และเขาเสียคะแนนเสียงไป 21,000 เสียง

แม้สุนัค ยังไม่ประกาศตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมครั้งล่าสุด แต่มีรายงานชี้ว่าเขาพร้อมที่จะเข้าร่วมการชิงตำแหน่งนี้

เพนนี มอร์ดอนต์ 

เพนนี มอร์ดอนต์ สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักร ในปี 2019 หลังทรัสส์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหราชอาณาจักรเธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำสภาสามัญชนและประธานสภาองคมนตรี ซึ่งหมายความว่าเธอเป็นประธานในสภาการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์องค์ใหม่

เธอแสดงความเป็นผู้นำเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการยืนหยัดเพื่อทรัสส์ ระหว่างการตอบคำถามในรัฐสภาด้วย

ในการชิงตำแหน่งผู้นำพรรคครั้งที่ผ่านมา มอร์ดอนต์ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากส.ส. แต่พลาดโอกาสเข้ารอบ 2 คนสุดท้าย

บอริส จอห์นสัน 

ด้วยเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ในการเลือกผู้นำคนใหม่ ผู้เข้าแข่งขันหลายคนมีแนวโน้มที่จะเป็นใบหน้าที่คุ้นเคย และคงไม่มีใครจะคุ้นเคยไปว่า ชายผู้เคยเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน อย่าง บอริส จอห์นสัน

จอห์นสัน ถูกบังคับให้ประกาศลาออกในเดือนกรกฎาคม หลังจากการประท้วงครั้งใหญ่โดยรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากเหตุความขัดแย้งหลายเดือนเกี่ยวกับการจัดงานเลี้ยงภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ที่ดาวนิง สตรีท และการโต้เถียงอื่นๆ รวมถึงการแต่งตั้งคริส พินเชอร์ ที่ถูกร้องเรียนถึง "พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม" ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เขายังคงมีพันธมิตรทั้งในรัฐสภาและสมาชิกพรรคทั่วไป นาดีน ดอร์รีส์ ผู้สนับสนุนระยะยาวชี้ว่า เขาควรกลับมา เนื่องจากจอห์นสนได้รับมอบอำนาจจากประชาชนในการเลือกตั้งปี 2019

เบน วอลเลซ 

เบน วอลเลซ เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหม ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน เนื่องจากสหราชอาณาจักรได้ตัดสินใจแต่เนิ่นๆ ที่จะสนับสนุนยูเครนด้านอาวุธและการฝึกทหาร

แม้เขาจะต่อต้าน Brexit แต่วอลเลซเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของบอริส จอห์นสัน

หลังจากที่นายจอห์นสันลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศ  มีผู้เสนอให้วอลเลซลงสมัครชิงตำแหน่งแทน ขณะที่เขาได้รับคะแนนสูงสุดจากการสำรวจความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยเว็บไซต์ Conservative Home 

อย่างไรก็ตาม เขาเลือกที่จะสนับสนุนทรัสส์ แทน โดยอธิบายว่าเธอเป็น "ของจริง"

เคมี บาเดนอช

เคมี บาเดนอช เคยเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำครั้งล่าสุด แม้เธอจะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ก็ช่วยเพิ่มโปรไฟล์ของเธอได้อย่างมาก แม้จะเพิ่งเข้าร่วมรัฐบาลได้เพียงเดือนเศษๆ แต่เธอได้รับการสนับสนุนจากไมเคิล โกฟ ผู้อาวุโสในพรรคอนุรักษ์นิยม

บทบาทที่อาวุโสที่สุดของเธอในรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน คือเป็นผู้นำแผนกการค้าระหว่างประเทศ

ซูเอลา บราเวอร์แมน 

คนนี้เราเพิ่งจะเห็นหน้าไปเมื่อวันที่ 19 ต.ค. หลังเธอประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย แม้จะให้เหตุผลว่าใช้อีเมลส่วนตัวส่งเอกสารทางราชการ แต่จดหมายการลาออกของเธอที่แสดงควาไม่พอใจ บอกเป็นนัยถึงความขัดแย้งเรื่องนโยบายผู้อพยพ

การลาออกของเธอทำให้เกิดแรงกดดันต่อลิซ ทรัสส์ อย่างหนัก เพราะเป็นรัฐมนตรีคนที่ 2 ในรัฐบาลของทรัสส์ที่ออกจากคณะรัฐมนตรี หลังทรัสส์ดำรงตำแหน่งได้เพียง 6 สัปดาห์  จากนั้นทรัสส์ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร หลังจากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง

พ่อแม่ของบราเวอร์แมนอพยพมาจากเคนยาและมอริเชียสในช่วงทศวรรษ 1960 และทั้งคู่เล่นการเมืองท้องถิ่น แม่ของเธอดำรงตำแหน่งสมาชิกสภามา 16 ปี

เบรเวอร์แมน เป็นรัฐมนตรีคนแรกของคณะรัฐมนตรีที่ลาเพื่อคลอดบุตร หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้รัฐมนตรีสามารถรับการลาเพื่อคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง 

อย่างไรก็ตาม รายชื่อที่ว่ามา ยังไม่มีใครยืนยันว่าจะเข้าร่วมชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมจริงหรือไม่ ต้องจับตาดูกันต่อไป



ภาพจาก AFP








ข่าวที่เกี่ยวข้อง