รีเซต

สปสช.ย้ำเยียวยาเคสแพ้วัคซีนโควิด จ่ายเบื้องต้นไม่รอพิสูจน์ถูกผิด

สปสช.ย้ำเยียวยาเคสแพ้วัคซีนโควิด จ่ายเบื้องต้นไม่รอพิสูจน์ถูกผิด
มติชน
26 ธันวาคม 2564 ( 14:46 )
79

ข่าววันนี้ (26 ธันวาคม 2564) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังรับฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตามแผนงานโครงการที่รัฐจัดให้ฟรี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการรับบริการ โดยมอบให้ สปสช. เป็นหน่วยงานดำเนินการ และได้ออกประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2564 เป็นต้นไป นั้น สปสช. ขอทำความเข้าใจกับประชาชนอีกครั้ง ว่า ระบบดังกล่าวเป็นเพียงระบบการชดเชยความเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น

 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า คำว่า “เบื้องต้น” หมายถึง ไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่เมื่อใดที่ไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต แต่แพทย์จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเรื่องอื่น แต่ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้ามาได้เลย ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น สปสช.จะมีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยาให้และจ่ายเงินภายใน 5 วัน หลังมีมติ และแม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิต หรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด

 

“ภารกิจของคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้พิจารณาหรือพิสูจน์ว่าผลข้างเคียงเกิดจากวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ แต่ภารกิจคือการช่วยเหลือเบื้องต้นและพิจารณาให้รวดเร็วที่สุด ดังนั้น ในการพิจารณาก็จะดูจากเอกสารทางการแพทย์ ประวัติสุขภาพ ช่วงเวลาที่เกิดปัญหา คณะอนุกรรมการก็จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ดังนั้น จึงไม่สามารถนำผลสรุปการจ่ายเงินช่วยเหลือแต่ละประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสียชีวิตไปอ้างอิงหรือสรุปได้ว่า มีสาเหตุจากวัคซีนโควิด-19 เพราะคณะอนุกรรมการพิจารณาตามหลักการเยียวยาเบื้องต้นคือไม่พิสูจน์ถูกผิด หรือ no-fault compensation ซึ่งเป็นหลักการช่วยเหลือเดียวกันกับมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เยียวยาความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขนั่นเอง” ทพ.อรรถพร กล่าว

 

ทั้งนี้ โฆษก สปสช.กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุด ในวันนี้ (26 ธันวาคม 2564) มีประชาชนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 และเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือ จำนวน 11,707 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ขอรับการช่วยเหลือ 8,470 ราย หรือร้อยละ 72.39 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 1,752 ราย หรือร้อยละ 14.97 (ในจำนวนนี้มีผู้ที่อุทธรณ์ 615 ราย หรือร้อยละ 6.02) และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาอีก 1,485 ราย หรือร้อยละ 12.68 โดย สปสช.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือฯ ไปแล้วทั้งหมด จำนวน 927,084,900 บาท

 

“อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง เข้าหลักเกณฑ์ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท จำนวน 6,298 ราย ขณะที่ในระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มี จำนวน 210 ราย และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท จำนวน 1,962 ราย” ทพ.อรรถพร กล่าว

 

โฆษก สปสช. กล่าวว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.เขตพื้นที่ทั้ง 13 สาขาเขต มีระยะเวลายื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับจากวันที่เกิดความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยประชุมพิจารณาทุกสัปดาห์ และจ่ายเงินภายใน 5 วัน หลังมีมติ และในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย

 

ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/175 สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330 หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง