รีเซต

ก.ล.ต. ออกรายงานวิจัยการซื้อขายเหรียญ LUNA ข้อมูลเผยขาดทุนแล้วเกือบพันล้าน

ก.ล.ต. ออกรายงานวิจัยการซื้อขายเหรียญ LUNA ข้อมูลเผยขาดทุนแล้วเกือบพันล้าน
TNN ช่อง16
18 กรกฎาคม 2565 ( 01:02 )
71

ฝ่ายวิจัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลรายงานเรื่อง "เจาะพฤติกรรมและผลกระทบของผู้ซื้อขายเหรียญ Luna ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลประเทศไทย" พบนักลงทุนขาดทุนแล้วเกือบพันล้าน


รายละเอียดในช่วงแรกของรายชิ้นดังกล่าวอธิบายถึงการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนเหรียญ LUNA ที่มีมากถึง 16,674% อย่างไรก็ตามหลังจากมีเริ่มมีการใช้เหรียญ UST ซึ่งเป็นเหรียญ Stablecoin ประจำเครือข่ายของ Terra ที่ใช้เหรียญ LUNA หนุนผ่านกลไก Algorithmic การผูกมูลค่าเหรียญ UST ให้เท่ากับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยใช้อัตรา 1 UST เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ 


เมื่อเกิดการเทขายเหรียญ UST ในตลาดเงินดิจิทัลจำนวนมากส่งผลให้เหรียญ LUNA ที่ถูกใช้หนุนมูลค่าของเหรียญ UST ถูกผลิตออกมาในปริมาณมหาศาลส่งผลให้มูลค่าลดลงอย่างรวดเร็วและนำไปสู่ภาวะการล่มสลายของราคาเหรียญ LUNA จากต้นเหตุดังกล่าวทีมงานวิจัยของ ก.ล.ต. จึงแบ่งช่วงเวลาการวิจัยออกเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน


Pre – stage (ช่วงก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม) : คือช่วงเวลาก่อนที่ราคาของเหรียญ UST (stable coin) กำลังจะหลุดจากที่ผูกไว้ในอัตรา 1 UST ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมีราคาน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ


Fall – stage (ช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 พฤษภาคม) : คือช่วงเวลาที่ราคาของเหรียญ UST หลุดจากอัตราที่ผูกไว้หรือมีราคาน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ


Bottom out – stage (ช่วงหลังจากวันที่ 13 พฤษภาคม) : คือช่วงเวลาที่ราคาของเหรียญ Luna ตกไปอยู่จุดต่ำสุดในขณะนั้น และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยประกาศระงับการซื้อขาย Luna ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 วัน


ภาพรวมของบัญชีที่เข้ามาซื้อขายเหรียญ Luna ในปี 2565 นั้นมีอยู่ทั้งหมด 315,077 บัญชี โดยมีสัดส่วน เป็นบัญชีผู้ลงทุนในประเทศประมาณ 99% และผู้ลงทุนประเภทอื่น ๆ อีก 1% ซึ่งจำนวนบัญชีส่วนใหญ่ที่เข้า มาซื้อขายนั้นมีขนาดพอร์ตอยู่ในช่วง 5,000 – 1,000,000 บาท และแบ่งจำนวนบัญชีตามช่วงเวลาที่ ทำการศึกษาได้ดังนี้ 


Pre – stage : 36,396 บัญชี คิดเป็น 11.55%

Fall – stage : 57,300 บัญชี คิดเป็น 18.19%

Bottom out – stage : 221,381 บัญชี คิดเป็น 70.26%


จากข้อมูลจำนวนบัญชีที่เข้ามาซื้อขาย Luna ทั้งหมดพบว่ามีบัญชีจำนวน 211,723 บัญชี โดย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 67% ที่มีประสบการณ์ซื้อขายเหรียญประเภทอื่นมาก่อน แต่ยังไม่เคยซื้อ Luna และเพิ่งเริ่มเข้ามาซื้อขายในช่วง Bottom out รวมถึงมีกลุ่มบัญชีที่เข้ามาเพื่อเก็งกำไรในเหรียญ Luna เพียงอย่างเดียวอยู่ที่ 9,658 บัญชี โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยสองอย่างด้วยกัน คือ 


1. หลังจากราคาเหรียญ Luna ลงไปทำจุดต่ำสุดในวันที่ 13 พฤษภาคม ราคาได้กลับตัววิ่งขึ้นกว่า 400% ในวันที่ 14 พฤษภาคม ทำให้นักลงทุนจำนวนหนึ่งแห่ซื้อตาม


2. ความเชื่อมั่นในโปรเจกต์ของ Luna ที่ในอดีตเป็นเหรียญที่ติดใน 10 อันดับแรกที่มี มูลค่าตลาดมากที่สุดในโลก รวมถึงการที่ผู้ก่อตั้งได้ออกมาประกาศแผนฟื้นฟูที่จะกอบกู้สถานการณ์ ของเหรียญ Luna จึงทำให้มีผู้ซื้อขายหน้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อ Luna พากันเข้ามาซื้อขายเป็นจำนวนมาก


อย่างไรก็ตามเมื่อมองภาพรวมของผู้ซื้อขายใน Luna พบว่ามีผลตอบแทนที่ขาดทุนโดยคิดเป็น 96% โดยพบว่าจำนวนบัญชีส่วนใหญ่ที่ขาดทุนนั้นจะเป็นบัญชีที่เพิ่งเริ่มเข้ามาซื้อขายในช่วง Bottom-out


เมื่อสรุปผลกำไร/ขาดทุนของบัญชีของผู้ซื้อขายแต่ละกลุ่มการศึกษาในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ ดิจิทัลประเทศไทย พบว่ามีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ประมาณ 980 ล้านบาท ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นบัญชีประเภท บุคคลในประเทศ โดยบัญชีที่เข้ามาในช่วง Fall นั้นจะเป็นกลุ่มบัญชีที่มีผลลัพธ์ของการขาดทุนมากที่สุด


สุดท้ายทีมงานนักวิจัยและ ก.ล.ต. ผลลัพธ์ของบทศึกษานี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นผลกำไรขาดทุนของ ผู้ซื้อขายในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ตระหนักถึงการพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเข้ามาซื้อขาย ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยโอกาสในการทำกำไรที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่ได้มีมากดังที่คาดหวังไว้นอกจากนี้ ด้วยลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนของราคาที่สูง ดังนั้นเงินที่นำมาลงทุนไม่ควรมาจาก การกู้ยืมหรือเป็นเงินที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และหากสูญเสียเงินส่วนนี้ไปแล้วจะต้องไม่เป็นภาระต่อ ตัวเองและครอบครัว


ที่มาของข้อมูล เจาะพฤติกรรมและผลกระทบของผู้ซื้อขายเหรียญ Luna ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลประเทศไทย 

ที่มาของรูปภาพ pixabay.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง