รีเซต

สื่ออาเซียนรวมตัวในยูนนาน ถกความร่วมมือสื่อระดับโลก

สื่ออาเซียนรวมตัวในยูนนาน ถกความร่วมมือสื่อระดับโลก
Xinhua
7 ธันวาคม 2566 ( 18:48 )
37
สื่ออาเซียนรวมตัวในยูนนาน ถกความร่วมมือสื่อระดับโลก

(แฟ้มภาพซินหัว : พิธีเปิดการประชุมสุดยอดสื่อโลก ครั้งที่ 5 ในนครกว่างโจว มณฑลกว่างตงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 3 ธ.ค. 2023)

คุนหมิง, 7 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ คณะผู้แทนสื่อจากไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา ได้รวมตัวกันที่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เพื่อกล่าวสุนทรพจน์และแบ่งปันมุมมองต่อการพัฒนาความร่วมมือสื่อระดับโลก ณ การประชุมสุดยอดสื่อโลก ครั้งที่ 5 (อวิ๋นหนาน) และการประชุมการสื่อสารระหว่างประเทศแห่งอวิ๋นหนาน ครั้งที่ 2

การประชุมสุดยอดสื่อโลก ครั้งที่ 5 (อวิ๋นหนาน) ซึ่งจะจัดขึ้นถึงวันศุกร์ (8 ธ.ค.) ร่วมจัดโดยสำนักข่าวซินหัวและรัฐบาลมณฑลอวิ๋นหนาน มีผู้เข้าร่วมเป็นคณะผู้แทนจากสถาบันราว 80 แห่ง ครอบคลุมสื่อมวลชน องค์กรระหว่างประเทศ และคลังสมองจากเกือบ 30 ประเทศและภูมิภาค จำนวนมากกว่า 300 คน

วัชรินทร์ เศรษฐกุดั่น บรรณาธิการบริหารของสำนักข่าวไทย กล่าวว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดระดับโลกเช่นนี้ และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์และมุมมองจากการแบ่งปันของสื่อทั่วโลก

วัชรินทร์กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างสื่อ ชี้ว่าจีนและไทยควรเพิ่มความร่วมมือ โดยเฉพาะด้านสื่อมวลชน ซึ่งสามารถช่วยสร้างสะพานเชื่อมประชาชนสองประเทศเข้าใจกันและกันอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

วัชรินทร์แสดงความหวังจะได้เรียนรู้ประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมจากการแบ่งปันของสื่อทั่วโลกภายในงานนี้ และอยากแบ่งปันมุมมองจากไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงแสวงหาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับสื่อที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต

อนึ่ง การประชุมสุดยอดสื่อโลก ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "กระตุ้นความเชื่อมั่นโลก ส่งเสริมการพัฒนาสื่อ" (Boosting Global Confidence, Promoting Media Development) ระบุว่าสื่อจากทุกประเทศจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายและเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ขณะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

สีวันชัย สีพันคำ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวลาว เผยว่าเทคโนโลยีใหม่ได้เพิ่มช่องทางการนำเสนอและผลิตข่าวสาร ทำให้นักข่าวจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง และสื่อกระแสหลักต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลิตข่าวสารได้ดียิ่งขึ้น

ธิดา ทิน อธิบดีประจำกระทรวงสารสนเทศของเมียนมา เชื่อว่าแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งสามารถเพิ่มการแบ่งปันข้อมูลและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล

ข่าน โสพิรม รองผู้อำนวยการสำนักข่าวขแมร์ของกัมพูชา กล่าวว่าในฐานะนักข่าว มีความมุ่งหวังจะเสริมสร้างความร่วมมือกับสื่อจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะสื่อในจีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง