ซอฟต์โลนยังไม่นิ่ง AAVเสี่ยงมีเพิ่มทุน
ทันหุ้น – สู้โควิด – “อาคม”ขุนคลัง โยนศศช.-ธปท. พิจารณาวงเงินซอฟต์โลนสายการบิน ด้านออมสินลั่นพร้อมปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0.01% นักวิเคราะห์ชี้ สายการบินยังเหนื่อยเผชิญวิกฤติ ทั้งต้นทุนภาษีพุ่ง, เปิดประเทศช้า, สภาพคล่องจำกัด ระบุ AAV เสี่ยงต้องเพิ่มทุน 5.3พันล้านบาท ประเมินไทยแอร์เอเชียต้องแบกภาระขาดทุนต่ออีก 2ปี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าของสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สายการบิน ว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธานศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.)ได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประสานงานกับผู้ประกอบการเพื่อประเมินวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินตามความเหมาะสมของแต่ละบริษัท
“ศบศ. มอบหมายให้สภาพัฒน์ และธปท. ช่วยดูแลว่าจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร รวมถึงพิจารณาข้อเสนอซอฟต์โลนที่สายการบินขอเข้ามา ซึ่งต้องแยกแยะประเภทหนี้ให้แน่นอน ว่าเป็นหนี้อันเป็นผลประกอบการ หรือมาจากผลกระทบของโควิด-19” นายอาคม กล่าว
*ออมสินพร้อมปล่อยกู้
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารยังไม่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการใดใดเกี่ยวกับวงเงินสินเชื่อซอฟโลน สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะให้การสนับสนุนนโยบายภาครัฐฯ เบื้องต้นจะพิจารณาให้วงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.01% กับสถาบันการเงินตามที่ได้รับมอบหมาย เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้กับผู้ประการ
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันแม้ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว – สายการบินต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ประกอบกับยังต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐว่าจะต่ออายุความช่วยเหลือด้านมาตรการภาษีสรรพสามิตรน้ำมันหรือไม่
ขณะที่รายได้จากการเปิดเส้นทางบินในประเทศไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ทั้ง 100%ดังนั้นผู้ประกอบการสายบินจะยังต้องแบกภาระทั้งเงินเดือนและค่าประกันความเสี่ยงน้ำมัน (เฮดจิ้งน้ำมัน) รวมถึงยังต้องรอความชัดเจนมาตราการช่วยเหลือภาครัฐ ซึ่งหากได้เพียงวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับรักษาสภาพการจ้างงาน ไม่ได้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องก็คงเริ่มมีความเสี่ยง
*AAV เสี่ยงเพิ่มทุน
ฝ่ายวิเคราะห์ให้เรทติ้ง “UNDERPERFORM” สําหรับ AAV โดยคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานปี 2563 จะขาดทุนสุทธิที่ 3.2 พันล้านบาท, และจะยังขาดทุนสุทธิอีก 1.5 พันล้านบาท ในปี 2564 ดังนั้นสายการบินไทยแอร์เอเชีย มีแนวโน้มที่จะต้องเพิ่มทุน เบื้องต้นคาดการณ์ต้องเพิ่มทุนประมาณ 9.6 พันล้านบาท และ AAV ในฐานะผู้ถือหุ้นสัดส่วน 55% จะสนับสนุนเงินเพิ่มทุน 5.3 พันล้านบาท (ใช้สมมติฐานสายการบินไทยแอร์เอเซียมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (ช่วงก่อนเกิดโควิด-19) ที่ 3.0 เท่า โดยอิงกับหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยที่คาดการณ์ในปี 2565)
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์เห็นว่า AAV เป็นผู้ประกอบการสายการบินราคาประหยัดที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทยแต่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงโดยการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งจะส่งผลกระทบทําให้ธุรกิจและผลประกอบการของ AAV ปรับตัวแย่’