รีเซต

อากาศร้อนจัด! จีนเตือนภัยระดับสีส้มทะลุ 35 องศาฯ มากสุดในรอบ 41 ปี

อากาศร้อนจัด! จีนเตือนภัยระดับสีส้มทะลุ 35 องศาฯ มากสุดในรอบ 41 ปี
TNN ช่อง16
24 สิงหาคม 2565 ( 12:07 )
103

กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติจีนประกาศล่าสุด เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (23 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เตือนภัยอุณหภูมิสูงระดับสีส้ม ซึ่งเป็นการเตือนภัยระดับ 2 รองลงมาจากระดับสูงสุดสีแดง อุณหภูมิที่สูงยาวนานในจีน ประกอบกับฝนที่ตกน้อย ส่งผลให้ภัยแล้งในจีนยาวนานต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เป็นปัญหาท้าทายอย่างหนักต่อการผลิตภาคการเกษตร


ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภาคใต้ของจีนต้องทุกข์ทรมานกับวันที่มีอุณหภูมิสูงทะลุ 35 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ยมากถึง 19 วัน มากที่สุดในรอบ 41 ปีนับตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเสฉวน หรือซื่อชวน และบริเวณตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำแยงซี ต้องพบกับวันที่มีอุณหภูมิสูงมากถึง 20-40 วัน ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีก่อน ๆ อยู่ 5-15 วัน


นอกจากอุณหภูมิร้อนจัดแล้ว พื้นที่เหล่านั้นยังมีฝนตกน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีที่แล้วอย่างมากด้วย ในมณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซีและลุ่มน้ำเสฉวน และอีกหลายพื้นที่ใกล้เคียง มีฝนตกไม่ถึง 50 มิลลิเมตรตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปริมาณฝนที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปีก่อน ๆ 


ด้านผู้เชี่ยวชาญจากสำนักอุตุนิยมวิทยาเพื่อระบบนิเวศน์และการเกษตรจีนระบุว่า ดัชนีความเสียหายพืชผลการเกษตรเนื่องจากอุณหภูมิสูง พุ่งสูงสุดในรอบ 41 ปีตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา และทุบสถิติดัชนีความเสียหายพืชผลการเกษตรในปี 2006 และ 2013 ด้วย อุณหภูมิสูงยาวนานในภาคใต้ของจีนนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตและสร้างความเสียหายต่อพืชผลการเกษตร 


อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อากาศร้อนจัดในจีนจะคลี่คลายลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ทำให้สถานการณ์คลื่นความร้อนและภัยแล้งจะดีขึ้นบ้าง เพราะจะมีฝนโปรยปรายลงมา แต่ช่วงระยะเวลาที่ฝนตกยังสั้นเกินไป ไม่เพียงพอต่อการบรรเทาผลกระทบต่อการเกษตรที่เกิดจากอากาศร้อนได้ และความเสี่ยงของภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำแยงซี ยังคงมีอยู่สูงในอนาคต 


คาดว่าจะมีฝนตกน้อยไม่ถึง 25 มิลลิเมตรในตอนกลางและล่างของแม่น้ำแยงซีในอีก 10 วันข้างหน้า ไม่เพียงพอที่จะดับภัยแล้งต่อภาคเกษตรที่จะยังคงดำเนินต่อไป ทำให้เป็นไปได้สูงว่า ภัยแล้งจะลากยาวขยายเวลาจากฤดูร้อน ไปจนถึงฤดูใบไม้ร่วงในภาคใต้ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อผลิตผลการเกษตรของจีนให้หนักขึ้นอีก




ภาพจาก AFP


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง