รีเซต

เปิดตัวเครื่องบินพลังงานไฟฟ้า ขึ้นบินได้ด้วยรันเวย์ยาวไม่ถึง 100 เมตร

เปิดตัวเครื่องบินพลังงานไฟฟ้า ขึ้นบินได้ด้วยรันเวย์ยาวไม่ถึง 100 เมตร
TNN ช่อง16
5 กุมภาพันธ์ 2567 ( 16:09 )
67
เปิดตัวเครื่องบินพลังงานไฟฟ้า ขึ้นบินได้ด้วยรันเวย์ยาวไม่ถึง 100 เมตร

อิเล็กตรา (Electra) สตาร์ตอัปด้านอากาศยานพลังงานไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน พัฒนาเครื่องบินที่ใช้ระยะขึ้นและลงจอดที่สั้นเป็นพิเศษ (Ultra-short takeoff and landing: uSTOL) ได้สำเร็จ โดยมีเป้าหมายในการพลิกโฉมการโดยสารและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง โดยลดการใช้พื้นที่รันเวย์ (Runway) ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่มีมูลค่าสูงและเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากกว่าเครื่องบินขนาดใหญ่


เครื่องบินดังกล่าวใช้ชื่อเดียวกันกับชื่อบริษัท พัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 9 คน ใช้นักบินเพียงคนเดียวในการทำการบิน มีระยะการบินอยู่ที่ 805 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ ความเร็วทำการบิน (Cruise speed) อยู่ที่ 322 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นบินและลงจอดด้วยรันเวย์ที่มีความกว้าง 31 เมตร และยาว 92 เมตร ซึ่งยาวน้อยกว่าสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานที่มีความยาว 105 เมตร โดยใช้ความเร็วขึ้นบินและลงจอดเพียง 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ในขณะเครื่องบินขนาดกลางอย่าง แอร์บัส เอ 321 นีโอ (A321neo) จะใช้รันเวย์ไม่น้อยกว่า 2,200 เมตร


ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลที่เครื่องบินพลังงานไฟฟ้าลำนี้ใช้รันเวย์ในการขึ้นและลงน้อยกว่า 100 เมตร เนื่องจากว่า Electra ได้รับการออกแบบปีกให้ยกสูงอยู่ระดับบนของลำตัว พร้อมเรียงตำแหน่งมอเตอร์ใบพัด เพื่อจัดเรียงอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamic) เพื่อให้สามารถยกตัวเครื่องบินในการขึ้นบินและกดเครื่องบินเมื่อลงจอดได้ในความเร็วต่ำ ทำให้ใช้ระยะทางขึ้นบินและลงจอดน้อยเป็นพิเศษ ซึ่งทาง Electra เรียกเทคโนโลยีการออกแบบของตนเองว่า โบลน ลิฟต์ (Blown Lift Technology : Blown แปลว่า เป่า) 


โดยตัวเครื่องเป็นระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด (hybrid-electric STOL) ที่ไม่ได้ระบุแหล่งพลังงานทั้งหมด แต่ระบุว่าจะใช้มอเตอร์ใบพัด (Propeller) พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 8 ตัว ในการทำการขึ้นบินและขับเคลื่อน ทำให้ระหว่างขึ้นบินหรือลงจอด ตัวเครื่องบินอิเล็กตรา (Electra) จะปล่อยเสียงรบกวนที่ระดับความสูง 300 ฟุต หรือประมาณ 90 เมตร ออกมาเพียง 75 เดซิเบล (dB) เท่านั้น ในขณะที่เครื่องบินทั่วไป เช่น แอร์บัส เอ 321 นีโอ (A321neo) จะปล่อยเสียงรบกวนถึง 140 เดซิเบล ออกสู่ภายนอกระหว่างลงจอด


ในปัจจุบัน อิเล็กตรา อยู่ระหว่างการต่อยอดจากตัวต้นแบบขนาด 2 ที่นั่ง ซึ่งพัฒนาขึ้นมาสาธิตในเดือนพฤศจิกายนของปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เหล่าลูกค้าและนักลงทุนเห็นว่าตัวเครื่องอิเล็กตราสามารถทำงานได้จริง โดยขั้นตอนปัจจุบันคือการสร้างขนาดจริงและทดสอบให้ได้ภายในปี 2026 ก่อนจะยื่นเรื่องขออนุญาตประกอบเครื่องและผลิตอย่างเป็นทางการ และคาดว่าจะส่งมอบได้ภายในปี 2028  


ทั้งนี้ ทางบริษัทได้เปิดให้ลูกค้าที่สนใจเปิดสั่งจองล่วงหน้า (pre-order) ซึ่งเคลมว่ามียอดสั่งจองเข้ามากว่า 2,000 ลำ คิดเป็นมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 280,000 ล้านบาท ซึ่งนิวแอตลาส (New Atlas) สำนักข่าวเทคโนโลยีชื่อดัง ระบุว่ามีมูลค่ามากกว่าการซื้อขายในแต่ละปีของเซสนา (Cessna) เครื่องบินขนาดเล็กยอดนิยมของโลกถึง 8 เท่า แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเครื่องบินขนาดเล็กอย่างมีนัยยะสำคัญอยู่ในตอนนี้


ข้อมูลจาก New Atlas

ภาพจาก Electra


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง