รีเซต

เปิดประวัติ “นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หมอจุฬาฯ ที่ผลักดันฉีดวัคซีนไขว้ชนิด-สลับยี่ห้อ เพราะไวรัสไม่รู้หรอกเป็นยี่ห้อไหน

เปิดประวัติ “นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หมอจุฬาฯ ที่ผลักดันฉีดวัคซีนไขว้ชนิด-สลับยี่ห้อ เพราะไวรัสไม่รู้หรอกเป็นยี่ห้อไหน
Ingonn
15 กรกฎาคม 2564 ( 14:43 )
2.7K
เปิดประวัติ “นพ.ยง ภู่วรวรรณ” หมอจุฬาฯ ที่ผลักดันฉีดวัคซีนไขว้ชนิด-สลับยี่ห้อ เพราะไวรัสไม่รู้หรอกเป็นยี่ห้อไหน


 

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก นพ.ยง ภู่วรวรรณ คุณหมอจากจุฬาฯ ผู้ที่มีบทบาทในการพูดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนฟังอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งโลกออนไลน์มองว่า หมอยงมีความเห็นในด้านวัคซีนที่แตกต่างจากบทความทางวิชาการ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการฉีดวัคซีนไขว้ สลับชนิดเพื่อป้องกันสายพันธุ์เดลต้า แม้ "หมอยง" จะเคยมีกระแสดราม่าเกี่ยวกับวัคซีน แต่ประวัติ นพ.ยง นี้ไม่ไม่ธรรมดาถือว่าเป็นคุณหมอที่มากความสามารถเลยทีเดียว

 

 

 

วันนี้ TrueID จึงพาทุกคนมารู้จัก “หมอยง” หรือ "นพ.ยง ภู่วรวรรณ" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ว่าเป็นใคร ทำไมคนถึงให้ความสนใจในขณะนี้

 

 


ประวัติ “นพ.ยง”


นพ.ยง ภู่วรวรรณ ปัจจุบันอายุ 69 ปี เป็นแฝดน้องของ รศ ยืน ภู่วรวรรณ ซึ่งก็เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเช่นกัน เพียงแต่คนละสาขา จบชั้นมัธยมจากพระปฐมวิทยาลัย และ มัธยมศึกษาตอนปลายที่เตรียมอุดมศึกษา หลังจากนั้นได้เข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชศาสตร์ จากนั้นได้เป็นอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ก่อนไปฝึกอบรมเป็น Research Fellow ที่ King’s College Hospital Medical School กรุงลอนดอน ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จนถึงปัจจุบัน

 

 

ภาพจาก หอประวัติคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ภาพจาก หอประวัติคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

 

ผลงานที่ทำ “นพ.ยง”

 

เป็นผู้ทุ่มเทให้กับการเรียนการสอน งานวิจัย และบริการ อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 35 ปี ในสาขาโรคตับในเด็กให้กับนักศึกษาแพทย์ สอนและดูแลนิสิตปริญญาโท และเอก และหลังปริญญาเอก ทางด้าน Molecular Biology และไวรัสวิทยา แพทย์ประจำบ้าน ทั้งในคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัย ต่าง ๆ ในประเทศไทย 

 

 

มีผลงานวิจัยทางด้านโรคตับ ไวรัสวิทยา ไข้หวัดใหญ่ อย่างต่อเนื่องเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในเรื่อง ไวรัสตับอักเสบ และการป้องกัน โดยเฉพาะการป้องกันด้วยวัคซีน งานวิจัยเรื่องโรคตับในเด็กและการศึกษาในแนวลึก วิทยาศาสตร์การแพทย์ อณูชีววิทยาทางการแพทย์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2534 

 

 

ผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากสำนักงานสภาวิจัยแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2536 รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติในปี พ.ศ. 2540 และได้รับพระราชทานรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทยประจำปี พ.ศ. 2546 รวมถึงงานวิจัยทางด้านไวรัสวิทยา โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และไวรัสชนิดต่าง ๆ ในประเทศไทย

 

 

ภาพจาก หอประวัติคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 


นพ.ยง กับสถานการณ์โควิด-19

 

ปัจจุบัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ มีตำแหน่งเป็น หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ให้กับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมักจะเห็น นพ.ยง ให้ข้อมูลเกี่ยวสถานการณ์การแพร่ระบาด ประสิทธิภาพวัคซีน ผลงานวิจัยต่างๆเกี่ยวกับวัคซีนจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อลดความตระหนกจากสถานการณ์โควิด โดยมักจะให้ข้อมูลผ่าน เฟซบุ๊กนพ.ยง ภู่วรวรรณ 

 

 

ภาพจาก สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

 

 

ครั้งหนึ่งเคยปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น


เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า “เรียนผู้ติดตาม เนื่องจากมีการก่อกวนจากผู้ไม่แสดงตัวตน ผมเลยขอปิดการแสดงความคิดเห็น ของผู้ติดตามทั้งหมด เพื่อลดการก่อกวนผมมีความประสงค์ที่จะให้ความรู้ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตของประเทศ ทุกคนต้องช่วยกัน และรู้ในข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องขอโทษด้วยสำหรับผู้ติดตาม ที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆได้”

 

ภาพจาก เฟซบุ๊กนพ.ยง ภู่วรวรรณ 

 


เกิดอะไรขึ้นกับการปลด นพ.ยง ผ่าน Change.org

 

เกิดเป็นกระแสขึ้นมาในทวิตเตอร์ เมื่อแฮชแท็กร้อน #ChulalongkornUniversity ที่พูดถึงการขอให้ปลดนพ.ยง ภู่วรวรรณ ออกจากตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ผ่าน Change.org ผู้ตั้งแคมเปญ ปลด นพ.ยง ภู่วรวรรณ ออกจากตำแหน่งหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก  ระบุว่า

 


เมื่อกล่าวถึงนพ. ยง ภู่วรวรรณ ที่เป็นตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ให้กับรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีความเห็นในด้านวัคซีนที่ผิดเพี้ยนไปจากบทความทางวิชาการ และหลายต่อหลายครั้งที่สนับสนุนวัคซีนที่ด้อยประสิทธิภาพอย่าง Sinovac โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการมารองรับ

 

 

ยกตัวอย่างเช่น

 

1.ระยะห่างในการฉีดวัคซีน Astrazeneca ที่ตามคำแนะนำให้ฉีด 2 เข็มห่างกัน 12 สัปดาห์ แต่นายแพทย์ยงกลับแนะนำให้ฉีดห่างกัน 16 สัปดาห์ โดยไม่มีข้อสนับสนุนทางวิชาการ

 

 

2.ประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 ที่ไม่มีการศึกษาวิจัยเลย มีแต่คำพูดของประธานบริษัทผู้ผลิต Sinovac ที่กล่าวอ้างว่าอาจจะมีประสิทธิภาพดี แต่ นายแพทย์ยง กลับนำเรื่องการฉีดวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 มาให้คำแนะนำกับประชาชน ทั้งๆที่ไม่เคยมีหลักฐานทางวิชาการมาก่อนเลย

 

 

3.นายแพทย์ยง ไม่เคยแนะนำให้ประเทศนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาในประเทศ ทั้งๆที่ผลการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนแตกต่างกันอย่างชัดเจน และราคาก็ไม่ได้แตกต่างกัน แต่ยังคงออกมาปกป้องวัคซีน Sinovac โดยที่ไม่มีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอ

 

 

ในฐานะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันหลักของประเทศชาติในการดำรงไว้ซึ่งหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง จึงขอเรียกร้องให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการกับแพทย์ที่ไม่ทำตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แพทย์ไม่ทำตามผลการศึกษาที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ แพทย์ที่ขายจรรยาบรรณของตนเองเพื่อรับใช้ทางการเมือง เพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่คงไว้ซึ่งความตรงไปตรงมาตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป

 

 

จึงเป็นที่มาของแฮชแท็ก #ChulalongkornUniversity ในโลกออนไลน์วันนี้

 

 

ภาพจาก Change.org 

 

 

 

 

ปมร้อน ไวรัสมันไม่รู้หรอกว่า วัคซีนที่ฉีดไปเนี่ยยี่ห้ออะไร

 

นพ.ยงระบุว่า การสลับชนิดของวัคซีน ทีมศูนย์วิจัยได้ทำมาโดยตลอดและเห็นว่า การให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัส Vector จะกระตุ้นได้ดีมาก การให้วัคซีนเชื้อตายที่เป็นทั้งตัวไวรัส เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทาน เมื่อกระตุ้นด้วยต่างชนิดโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์

 

 

"ผมยกตัวอย่างวัคซีนในเด็กเนี่ยนะครับ เกือบทุกชนิดเลย ไม่ว่าตั้งแต่ไข้สมองอักเสบ ป้องกันท้องเสีย เมื่อผลิตออกมาใหม่ๆ แต่ละบริษัทออกมาบอกว่า การใช้จะต้องไม่ข้ามกันนะครับ จะต้อง... หมายถึงเข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 จะต้องใช้ยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่อมาแม้กระทั่งวัคซีนท้องเสียโรตา หรือแม้กระทั่งวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เนี่ยนะครับ เวลาใครไปฉีดคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในเด็กเนี่ย เคยถามไหมว่าลูกฉีดยี่ห้ออะไรนะครับ ปีนี้ประมูลได้ยี่ห้ออะไร ปีหน้าประมูลได้ยี่ห้ออะไรนะครับ ไวรัสหรือแบคทีเรียต่างๆ ก็คงไม่รู้หรอกว่าวัคซีนที่ฉีดไปเนี่ยยี่ห้ออะไรนะครับ" ศ.นพ.ยง กล่าว

 

 

การกล่าวนี้เกิดขึ้นระหว่างการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแนวทางการฉีดวัคซีนของไทย จากเดิมที่ฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกันให้กับคนๆ เดียว มาเป็นการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า โดยอ้างว่าให้ประสิทธิผลต่อโรคโควิด-19 ได้ดีกว่า

 

 

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณ ภาพและข้อมูลจาก หอประวัติคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , Change.org , เฟซบุ๊กนพ.ยง ภู่วรวรรณ  , สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

 

 

-------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง