รีเซต

5 ตำนานการเกิด “สุริยุปราคา” ที่ใครได้ฟังต้อง “ร้องว้าว!” เป็นอย่างมาก

5 ตำนานการเกิด “สุริยุปราคา” ที่ใครได้ฟังต้อง “ร้องว้าว!” เป็นอย่างมาก
TNN ช่อง16
9 เมษายน 2567 ( 19:09 )
48

ทุก ๆ ครั้งยามใดก็ตามที่มีการออกข่าวว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคา” เมื่อนั้นย่อมเป็นที่สนใจของผู้คนเป็นอย่างมาก อย่างล่าสุด ที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก หากพลาดการรับชมในครั้งนี้ อาจต้องตั้งตารอมากกว่า 20 ปีเลยทีเดียว

 

แน่นอน เราทราบกันดีว่าสิ่งนี้คือ “ปรากฏการณ์ธรรมชาติ” ที่สามารถอธิบายได้ด้วย “หลักการทางวิทยาศาสตร์” แต่ชีวิตของมนุษย์เรานั้น แยกไม่ขาดออกจาก “เรื่องเล่า” โดยเฉพาะ “เรื่องเล่าระดับแฟนตาซี” ที่จรรโลงจิตใจให้เกิดจินตนาการและความเพลิดเพลิน ในรูปแบบของ “ตำนานปรัมปรา” ย่อมเป็นสิ่งที่ยังคงอยู่สืบต่อมาได้จนถึงปัจจุบัน

 

และนี่คือ 5 ตำนานการเกิด “สุริยุปราคา” ที่ใครได้ฟังต้อง “ร้องว้าว!” ออกมาอย่างแน่นอน


กบตะกละ - เวียดนาม


เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นชื่อเรื่องตำนานปรัมปรา ในแทบจะทุกปรากฏการณ์ธรรมชาติ มักมีเรื่องเล่าเป็นของตนเองเสมอ แน่นอน สุริยุปราคาก็เช่นเดียวกัน


นอกเหนือไปจากที่รับเชื่อกันว่า สุริยุปราคาเกิดจาก “ราหู” มาทำการ “อม” ดาวฤกษ์ไว้แล้ว ผู้คนในภูมิภาคนี้ ยังมีเรื่องเล่าท้องถิ่นเกี่ยวกับสุริยุปราคาประจำประเทศตน


แต่ที่น่าสนใจที่สุด นั่นคือ เรื่องเล่าท้องถิ่นของ “เวียดนาม” ที่ว่าด้วยเรื่องราวที่ว่า การที่เกิดสุริยุปราคานั้น มาจากการที่ “กบยักษ์” นั้นรู้สึกหิว และได้ทำการ “กลืนดวงอาทิตย์” เข้าไปทั้งดวง


แน่นอน มีสัตว์อีกจำนวนมาก ที่มีตำนานการกลืนกินดวงอาทิตย์ อย่างของจีน คือมังกร หรือตำนานแร็คนาร็อค ก็มี “เทพเฟนรีร์” ลูกชายโลกิ แต่ที่กล่าวมา คือ “สัตว์สมมุติ” ทั้งสิ้น แต่ของเวียดนามนั้น “เป็นสัตว์จริง ๆ”


สุริยเทพพิโรธ - อารยธรรมอินคา


การใช้ดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของ “เทพ” ไม่ใช่เรื่องแปลกในโลกโบราณ ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมตะวันตก หรือตะวันออก อาทิ การใช้กษัตริย์ในฐานะ “สมมุติสุริยเทพ” หรือ “สมมุติสุริยบุตร” 


แต่น้อยครั้งจริง ๆ ที่จะมีการสร้างเรื่องเล่าของสุริยเทพที่เกี่ยวข้องกับสุริยุปราคา


ในอารยธรรมอินคา พวกเขานับถือสุริยเทพ “อินที” ซึ่งถือเป็นเทพเจ้าที่มีเมตตากรุณาอย่างมาก แต่ยามใดที่ท่านพิโรธ ก็จะเปลี่ยนเป็นเทพแห่งการทำลายล้างในทันที


โดยการที่จะทราบว่าท่านพิโรธหรือไม่ ให้สังเกตุการเกิดสุริยุปราคาในวันนั้น หากเกิดขึ้น เท่ากับความซวยมาเยือน


แค้นเพราะแดดเผา - อินเดียนแดง


หากกล่าวถึงอินเดียนแดง แน่นอน หากใครไม่คุ้นชิน ย่อมนับแบบ “เหมารวม” ว่าเป็นพวกเดียวทั้งหมด แต่จริง ๆ อินเดียนแดงนั้น “มีหลายเผ่า” อย่างมาก และแต่ละเผ่าก็สร้างตำนานปรำปราที่แตกต่างกันออกไป


โดยในชนเผ่า “โอจิบวา และ ครี” [อาศัยทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ] ได้สร้างเรื่องเล่าเพื่ออธิบายการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างสุดหฤหรรษ์


เรื่องมีอยู่ว่า เด็กหนุ่ม [หรือบางตำนานเป็นคนแคระ] นาม ซิคาบิส (Tcikabis) ต้องการที่จะ “แก้แค้น” ดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงจน “แดดเผา” ผิวของตน เขาจึงทำ “กับดัก” จับดวงอาทิตย์ไม่ให้ขึ้นบนฟ้า ซึ่งกินระยะเวลานานมากพอสมควร แต่แล้ว ก็ได้มีหนูตัวหนึ่ง แทะกับดักจนดวกอาทิตย์ขึ้นตามปกติได้


นับว่าเรื่องเกิดจาก “แดดเผา” ล้วน ๆ เลยทีเดียว


วิวาทเป็นเหตุ - โตโกและเบนิน


ในตำนานท้องถิ่นแถบแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะ โตโกและเบนิน ได้มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับสุริยุปราคาที่ชวนเรียกเสียงหัวเราะไม่ต่างกัน


เรื่องมีอยู่ว่า ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้น เกิดอาการ “เหม็นหน้ากันและกัน” จึงสู้รบกันแบบนองเลือด ทั้งวันทั้งคืน ไม่ทำหน้าที่ จนเกิดเป็นสุริยุปราคา เดือดร้อนถึงมารดาแห่งมนุษย์ทั้งมวล นามว่า “ปูกา ปูกา และ กุยเยโคเก” ต้องออกมาเรียกร้อง “สันติภาพ” ให้เกิดขึ้น และพอ “เคลียร์กันได้” ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ก็กลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง


นับว่าเรื่องนี้ “วิวาท” เป็นเหตุสังเกตได้


ไอ้ขี้ขโมย - เกาหลี


ปิดท้ายโดยกลับมาที่เอเชีย แน่นอน ดินแดนแถบนี้ ส่วนใหญ่แล้ว ต่างรับเชื่อว่า การเกิดสุริยุปราคานั้น มาจากการที่อะไรสักอย่าง “กลืน” ดวงอาทิตย์เข้าไป


แต่ไม่ใช่กับ ตำนานแห่ง “คาบสมุทรเกาหลี” เพราะได้มีการสร้างเรื่องเล่าว่า มาจากการ “ขโมย” ล้วน ๆ


ใน “ฮันกุกเก ซอลอู” ตำนานปรัมปราแห่งเกาหลี ได้เล่าว่า กาลครั้งหนึ่ง พระมหากษัตริย์แห่ง “คามังนารา” หรืออาณาจักรแห่งความมืดใต้พิภพ ต้องการแสงสว่างจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  ท่านจึงดำริให้ “พุลเก” หรือ “สุนัขเพลิง” ขึ้นไปบนโลก และชิงดวงอาทิตย์มาให้จงได้


แต่ด้วยความร้อนของดวงอาทิตย์ ทำให้พุลเกไม่สามารถที่จะคาบได้ตลอดทาง จึงจำใจยอมแพ้ คายดวงอาทิตย์ และกลับคามังนาราอย่างไว


พระมหากษัตริย์ทรงกริ้วอย่างมาก และต่อว่าสาดเสียเทเสียไปว่า ดวงอาทิตยร้อน ใยจึงไม่ไปคาบดวงจันทร์มาแทนเล่า และได้ส่งพุลเกไปอีกครั้ง


แต่ดวงจันทร์ก็เย็นจนเกินไป พุลเกก็ไม่สามารถที่จะคาบกลับมายังคามังนาราได้ แน่นอน พระมหากษัตริย์ก็ผิดหวังอีกครั้ง แต่ท่านก็ไม่ยอมแพ้ ยังคงใช้งานพุลเกให้ทำเช่นนี้ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


ดังนั้น จึงเกิดเป็นการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเกิดสุริยุปราคา นั่นหมายถึงพุลเกกำลังคาบดวงอาทิตย์ไป แต่พอปรากฏการณ์นี้หายไป นั่นหมายความว่า พุลเกทนความร้อนของดวงอาทิตย์ไม่ไหว และคายทิ้ง วิ่งกลับไปคามังนารา


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


* https://www.britannica.com/list/the-sun-was-eaten-6-ways-cultures-have-explained-eclipses

* https://thefederal.com/news/myths-and-legends-surrounding-solar-eclipse/?infinitescroll=1

* https://www.timeanddate.com/eclipse/solar-eclipse-myths.html

ข่าวที่เกี่ยวข้อง