เปิดนโยบาย CPR เดนมาร์ค สู่การช่วยชีวิต คริสเตียน อีริคเซ่น
การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ในเกมระหว่าง เดนมาร์ค และฟินแลนด์ เกมเตะกลุ่มบี นัดแรกในกรุงโคเปนเฮเกน เมื่อคืนวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีหลังจากทีมแพทย์สามารถช่วยชีวิตทำ CPR ช่วยคริสเตียน อีริคเซ่น เพลย์เมกเกอร์ ชาวเดนมาร์ค ให้รอดชีวิตได้ หลังจากวูบหัวใจหยุดเต้น ล้มลงกลางสนาม สร้างความตกตะลึงต่อ สายตาแฟนบอลในสนาม รวมถึงแฟนบอลที่กำลังชมถ่ายทอดสดไปทั่วโลก
การรอดชีวิตของ ‘อีริคเช่น’ นอกจากจะเป็นผลมาจากการตัดสินใจอันรวดเร็วของเพื่อนร่วมทีม ผู้ตัดสิน คุณภาพของทีมแพทย์ การวางระบบความปลอดภัยของสหพันธ์กีฬาฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ที่มีมาตรฐานแล้ว ประเทศเดนมาร์ค ยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความรู้ในการกู้ชีวิตในหมู่ประชาชนอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน
เว็บไซต์ยูเอสเอทูเดย์ รายงานเอาไว้เมื่อปี 2013 ถึงความสำเร็จของประเทศเดนมาร์ค ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการกู้ชีวิตด้วยการทำ CPR กับประชาชน โดยผลการศึกษาในเวลานั้นพบว่า ผู้ที่เกิดอาการหัวใจวายในเดนมาร์ค มีโอกาสที่จะรอดชีวิตมากขึ้นถึง 3 เท่าเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน
ผลการศึกษาระบุว่า เดนมาร์ค เริ่มดำเนินนโยบายระดับชาติเพื่อให้ความรู้ในการทำ CPR นอกโรงพยาบาลกับประชาชนตั้งแต่ปี 2005 มีการกระจายเอกสารแนะนำวิธีการทำ CPR กับประชาชนกว่า 150,000 ชุด, เด็กๆเริ่มเรียนรู้เรื่องการทำ CPR ตั้งแต่เรียนชั้นประถม และมีการบรรจุหลักสูตรการทำ CPR สำหรับผู้ที่จะสอบใบขับขี่ด้วย
ผลของนโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยจำนวนผู้ป่วยหัวใจวายที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการทำ CPR จากพลเมืองดี เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า คือจาก 22% ในปี 2001 เป็น 45% ปี 2010
ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยหัวใจวายที่ถูกส่งถึงโรงพยาบาลและยังมีชีวิตอยู๋เพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 22%
ขณะที่สัดส่วนผู้ป่วยที่มีชีวิตหลังจากได้รับการช่วยเหลือ 30 วัน เพิ่มขึ้นจาก 3.5% เป็น 11% สัดส่วนผู้ป่วยที่มีชีวิตหลังจาก 1 ปี เพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 3% เป็น 10% เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีการปรับวิธีการทำ CPR ให้ง่ายขึ้น คือการใช้มือปั้มหัวใจเพียงอย่างเดียว แทนที่เดิมจะเป็นการปั้มหัวใจสลับกับการเป่าปาก