รีเซต

โครงการ U2T เข้ามาสอนเทคนิค ทำคลอดปูนา อาชีพเสริมในชุมชนมีรายได้

โครงการ U2T เข้ามาสอนเทคนิค ทำคลอดปูนา อาชีพเสริมในชุมชนมีรายได้
มติชน
28 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:29 )
85

ชาวบ้าน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เลี้ยงปูนาในกระชังนำมาแปรรูปทำอาหารได้หลากหลายเมนู โดยโครงการ U2T เข้ามาสอนเทคนิคการขยายพันธุ์ ทำคลอดปูนาให้ความรู้สร้างอาชีพเสริมในชุมชนมีรายได้

 

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ไปดูแหล่งการเรียนรู้ปูนาของชาวบ้านหมู่ 1 ต.บ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ได้รวมกลุ่มกันประมาณ 11 ครัวเรือน นำพ่อ แม่พันธุ์ ปูนาสายพันธุ์พระเทพ ลักษณะตัวสีม่วง และพันธุ์กำแพง ตัวสีน้ำตาล เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ สร้างรายได้ เป็นแหล่งโปรตีนที่อยู่กับวิถีชีวิตของชาวนาไทยมาถึงปัจจุบัน ช่วงการทำนาจะพบปูนาอยู่ตามท้องทุ่ง ตามแหล่งน้ำ ชาวบ้านจะจับมาแปรรูปทำอาหาร ในตลาดมีขายราคากิโลกรัมละ 80 – 100 บาท

 

 

ทำให้ชาวบ้าน นำมาเพาะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ และบ่อพลาสติก เป็นกระชัง ใช้ท่อพีวีซีทำเป็นโครง ต้นทุนการทำกระชังประมาณ 500 บาท โดยโครงการ U2T มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และนายกสโมสรโรตารี่โพธาราม เข้ามาแนะนำการเลี้ยงและการขยายพันธุ์สู่การแปรรูปต่อยอดเมนูอาหาร ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยนำเครื่องสมุนไพรเข้ามาช่วยให้มีรสชาติความอร่อยมากขึ้น

 

การเลี้ยงจะนำพ่อ แม่พันธุ์ปูนา 10 คู่ ต่อ 1 บ่อ เลี้ยงแบบธรรมชาติ ให้กินผลไม้ เช่น มะละกอ มะม่วง ไข่แดง ข้าวสุก กุ้งฝอย โครงไก่สับ หมูสับต้มสุก บางช่วงจะใช้ใบหูกวางมีสรรพคุณช่วยฆ่าปลิงและพยาธิ ที่อาจจะติดตัวมากับปู จะแบ่งการเลี้ยงออกเป็นบ่อ ตามขนาดของปูแต่ละวัย นำภาชนะแตกหัก เช่น กระเบื้อง กระถาง มาใส่ให้ปูหลบอาศัย สังเกตบ่อไหนมีน้ำลักษณะขุ่นก็จะรีบถ่ายออก เพื่อให้มีความสะอาด เลี้ยงประมาณ 5 – 6 เดือน จึงจะโตเต็มวัยสามารถผสมพันธุ์ได้

 

นางสาววนิตา สมสิบ อายุ 25 ปี ผู้ดูแล เปิดเผยวิธีการเลี้ยงว่า ปูนาจับคู่ตัวผู้ตัวเมียอยู่ด้วยกัน ส่วนการผสมพันธุ์จะสร้างบรรยากาศให้ปูอยู่แบบอากาศที่ชื้น ให้สังเกตตัวเมีย ที่จับปิ้งล่นลงมาถึงครึ่งต้องจับแยกออก เพราะจะเริ่มมีไข่ ประมาณ 3 สัปดาห์ จะทำคลอดด้วยการจับที่กระดองนำไปแกว่งไปแกว่งมาในน้ำ ก็จะทำให้ลูกปูที่อยู่ในท้องหลุดออกไปอยู่ในบ่อ ที่เตรียมไว้โดยใส่จอกแหนและตาข่ายเป็นที่อยู่อาศัยจากนั้นลูปปูก็จะเจริญเติบโต แบ่งการเลี้ยงตามขนาดไซซ์ ตั้งแต่ขนาดเล็ก 1-2 เดือน จะจับขึ้นมาแยกขนาดไซซ์ ดูแลให้อาหารเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ ส่วนปูพิการไม่แข็งแรงจะนำไปแปรรูปทำอาหาร เช่น เมี่ยงปูนา ลาบปูนาข่าอ่อน น้ำพริกปูทอด ปูสามรส และเมนูอาหารอื่น ๆ

 

 

อาจารย์ ภณิชา จงสุภางค์กุล รองคณบดี วิทยาลัยมวยไทยศึกษา และการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ผู้รับผิดชอบโครงการ U2T เปิดเผยว่า มาต่อยอดการเลี้ยง เริ่มจากการสอนให้ชาวบ้านรู้เรื่องกระบวนการเลี้ยง การให้อาหาร การทำคลอดปู ชาวบ้านได้นำไปต่อยอดเลี้ยงที่บ้าน บางคนอยู่ในช่วงตกงานด้วยสถานการณ์โควิด 19 ก็สามารถต่อยอดทำเป็นอาชีพเสริมได้ หลังจากชาวบ้านเลี้ยงแล้ว ก็ได้ซื้อปูกลับมาแปรรูปเป็นน้ำพริกปูนาสมุนไพร น้ำยาสมุนไพร และเมี่ยงปูนาสมุนไพร และเมนูอาหารที่ทำจากปูนา ส่วนใหญ่ได้มาจากภูมิปัญญาของชาวบ้านขณะนี้ได้นำผลิตภัณฑ์เป็นน้ำพริกปูนาไปฝากขายตามวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ

 

 

อย่างการทำเมี่ยงคำปูนา จะใช้ปูนาที่แกะกระดองออกแล้ว นำมาทอดให้เหลือง จากนั้นนำเครื่องสมุนไพร ทั้งหอม กระเทียม ใบมะกรูด เม็ดมะม่วงหิมพานต์มาใส่คลุกเคล้าให้เข้ากันปรุงรสชาติกลมกล่อมแล้วตักใส่กระปุกบรรจุขายกระปุกละ 50 บาท และยังมีเมนูลาบปูนาข่าอ่อนสมุนไพร ใช้สมุนไพรหลายชนิดในการทำเมนูอาหาร เช่น น้ำมะกรูด ข่าอ่อน ช่วยดับคาวของปูนา และยังมีน้ำพริกปูนาสมุนไพร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่นี่ที่คิดทำขึ้นเองอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง