หนุ่มขอนแก่น ต่อยอดภูมิปัญญา เนรมิตชุมชนเลี้ยง‘ปูนา’ แปรรูปขายออนไลน์กำไรงาม
หนุ่มขอนแก่นต่อยอดภูมิปัญญา
เนรมิตชุมชนเลี้ยง ‘ปูนา’
แปรรูปขายออนไลน์กำไรงาม
ที่ฟาร์มปูนาแห่งใหม่ พื้นที่ประมาณ 200 ตารางวา ในหมู่บ้านเลคไซค์การ์เด้นวิว ริมบึงหนองโคตร ต.บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ชุมชนย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของ จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่ทำฟาร์มขนาดพอเหมาะ ที่บริหารจัดการพื้นที่เป็นฟาร์มปูนาแบบครบวงจร โดยมีการแบ่งสัดส่วนการบริหารจัดการพื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่ฟาร์มปูนา 100 ตารางวา พื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ 50 ตารางวา และพื้นที่จัดกิจกรรมรวมทั้งพื้นที่ส่วนกลางเพื่อรองรับผู้ที่มาเที่ยวชมฟาร์ม 50 ตารางวา โดยมี นายวธชสิทธิ์ ศรีสร้อย อายุ 37 ปี เจ้าของฟาร์มปู “นาอาเธอร์” พร้อมด้วยพนักงานร่วมให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง
นายวธชสิทธิ์ ศรีสร้อย เจ้าของฟาร์มปูนาอาเธอร์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เดิมเป็นพนักงานบริษัทโดยทำหน้าที่การตลาด เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาข้อมูลการเลี้ยงปูนา รวมทั้งการเรียนรู้จากฟาร์มปูนารายใหญ่หลายแห่ง จนกระทั่งตัดสินใจทำฟาร์มปูนาแบบครบวงจรขึ้นที่บ้านเกิดของตนเองที่ อ.โคกโพธิ์ชัย จ.ขอนแก่น จนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นที่ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบ ได้มีเพื่อนสนิทมาขอรับคำแนะนำในการช่วยเหลือด้านการตลาดให้กับฟาร์มปูนา จึงนำวิชาที่เรียนมาผสมผสานกับการทำตลาดแบบออนไลน์และเทคโนโลยีที่เป็นปัจจุบัน
“ซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับจากผู้ที่ชื่นชอบปูนา ทั้งรูปแบบพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ รวมการนำไปทำอาหาร จึงตัดสินใจกลับมาทำฟาร์มปูนาที่บ้านเกิด อ.โคกโพธิ์ชัย อย่างจริงจัง ด้วยเทคนิควิธีที่เรียนผ่านทางออนไลน์ รวมทั้งหลักวิชาการที่เรียนรู้มาจากฟาร์มขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.ราชบุรีและสุพรรณบุรี แต่เมื่อการทำฟาร์มที่อยู่ในพื้นที่อำเภอรอบนอก ทำให้การแปรสภาพหรือการเข้าถึงช่องทางทางการตลาดที่ยาก จึงขออนุญาตใช้พื้นที่ 200 ตารางวา หรือ 2 งาน ในพื้นที่ทำเลทองอีกแห่งหนึ่งของ จ.ขอนแก่น ทำเป็นฟาร์มปูนา ในเมืองโดยขอเช่าที่ดินดังกล่าว แต่ผู้ใหญ่ใจดีเห็นว่าเป็นการนำไปพัฒนาเป็นภาคการเกษตรแบบผสมผสานและคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงยังคงไม่เก็บค่าเช่า จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการวางแผนการทำฟาร์มปูนา หรือที่เรียกกันว่า “หมู่บ้านปู” แบบกะทัดรัดและคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมผสมกับการเกษตรสมัยใหม่ ที่เป็นการผสมผสานอย่างลงตัว”
นายวธชสิทธิ์ กล่าวถึงการบริหารจัดการพื้นที่ฟาร์มปูนาว่า แบ่งพื้นที่ 1 งาน ทำเป็นฟาร์มปูนา ที่เป็นการทำฟาร์มทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยปูที่ตลาดต้องการ 2 สายพันธุ์ คือพันธุ์พระเทพ และพันธุ์กำแพง ทำการเลี้ยงแบบธรรมชาติและกระชังบก แต่ที่ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก คือการเลี้ยงแบบดั้งเดิม คือการนำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาเลี้ยงในพื้นที่ที่จำลองธรรมชาติ และเลี้ยงแบบดั้งเดิมตามสภาพแวดล้อมและสิ่งที่ปูนาต้องการ ให้อาหารวันละ 1 มื้อคือมื้อค่ำ หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวันที่ไม่ซ้ำกัน ที่สำคัญในการเลี้ยงนั้นจะต้องระวังงูกับปลาเพราะ 2 สิ่งนี้คือสิ่งที่ปูนากลัว ซึ่งฟาร์มเมื่อเลี้ยงในระบบบ่อดินดั้งเดิมแบบธรรมชาติแล้วนั้นจะคัดแยก
ออกเป็น 3 ส่วน คือกลุ่ม 3 เดือน ที่เรียกว่าปูดอง กลุ่ม 6 เดือนและกลุ่ม 1 ปี ซึ่งเมื่อเลี้ยงปูตามที่ต้องการในแต่ละช่วงอายุแล้วทุกตัวจะต้องถูกจับมาเลี้ยงในกระชังหรือบ่อคอนกรีต หรือในวงการการเลี้ยงปูคือการเลียงแบบน้ำใส อีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้ปูคลายปรสิตและชำระล้างตัวเองจากดินและสิ่งปฏิกูลต่างๆ จึงจะสามารถจับไปขายได้
นายวธชสิทธิ์กล่าวต่ออีกว่า “ปูนา” เมื่อทำการเลี้ยงได้ตามช่วงอายุแล้ว ทั้งตัวมีราคาทั้งหมด ซึ่งเดิมเกษตรกรส่วนใหญ่จะเลี้ยงเพื่อขายพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ หรือบางกลุ่มก็จะเลี้ยงแบบชั่งกิโลขาย แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น และได้ทำการตลาดเชิงพาณิชย์ให้กับปูนาพบว่าปูนานั้นเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมากและสามารถทำได้มากกว่าปูดอง จึงได้มากลายเป็นแนวทางของการต่อยอดธุรกิจและส่งเสริมการตลาดให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้นเพราะปูนานั้นเพาะเลี้ยงเพียง 3 เดือนขึ้นไปก็สามารถขายได้และได้ราคาดี
ดังนั้นฟาร์มปูนาอาเธอร์ จึงเป็นมากกว่าแหล่งเรียนรู้ด้านการเลี้ยงปูนาด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงเป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการแปรสภาพปูหรือการนำปูไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร ที่ฟาร์มนั้นทำทั้งระบบ โดยมีการนำไปแปรสภาพเป็นอาหาร ที่ประกอบด้วย ปูนาทอดกรอบ, น้ำพริกปูนา, อ่องมันปูนา และปูนาสามรส ซึ่งปัจจุบันราคาปูนาอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-150 บาท แต่ถ้านำมาชำแหละราคาจะปรับขึ้นเป็นกล้ามปูในกลุ่มรุ่นอายุ 1 ปี จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-500 บาท, มันปู กิโลกรัมละ 800-1,500 บาท,กระดองปูตากแห้ง ที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมากในขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท, อกปู กิโลกรัมละ 300 บาท ซึ่งเรียกได้เวลาการเลี้ยงกับต้นทุนนั้นเป็นอีกหนึ่งช่องทางการเกษตรเชิงพาณิชย์ที่น่าสนใจอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ฟาร์มยังคงมีความตั้งใจที่จะต่อยอดภูมิปัญญาประจำถิ่นด้วยการทำปูนาสู่อุตสาหกรรมความงาม ในกลุ่มไคโตซาน โดยได้มีการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการสกัดสารดังกล่าวจากปูนาของฟาร์มแล้ว อีกทั้งในขณะนี้ฟาร์มได้เปิดให้บริการในการเป็นแหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ศึกษาดูงานการบริหารจัดการฟาร์มปูนาทั้งระบบ ในพื้นที่กะทัดรัดที่ทุกคนสามารถทำฟาร์มปูนาเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารที่ทำจากปู