รีเซต

นครพนม เพาะเลี้ยงปูนา สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่กับการตลาดในต่างประเทศ

นครพนม เพาะเลี้ยงปูนา สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่กับการตลาดในต่างประเทศ
มติชน
18 สิงหาคม 2564 ( 13:44 )
71
นครพนม เพาะเลี้ยงปูนา สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่กับการตลาดในต่างประเทศ

 

ปูนาที่ไม่ธรรมดา เห็นจนชินตาไม่คิดว่าจะมีราคาขนาดนี้ วันนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักการเพาะเลี้ยงปูนาที่ไม่ธรรมดา กับ “ซูเปอร์แครบส์ปูนานครพนม” เพราะถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว

 

 

ห่างออกจากตัวเมืองนครพนมไปตามถนนชยางกูร (ทางไป อ.ธาตุพนม-มุกดาหาร) ประมาณ 2 กิโลเมตร ตรงข้ามโรงแรมไอโฮเท็ล ก็จะเจอฟาร์มปูนาของคุณเครือวัลย์ อัศวสกุลชัย หรือคุณตุ๊กตา เจ้าของฟาร์ม “ซูเปอร์แครบส์ปูนานครพนม” เราได้ร่วมพูดคุยกับคุณตุ๊กตาถึงที่ไปที่มาในการเพาะเลี้ยงปูนาส่งขาย

 

 

โดยคุณตุ๊กตา บอกว่า ได้เริ่มทำแบบจริง ๆ จัง ๆ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ไปอบรมการเพาะเลี้ยง และกระบวนการต่าง ๆ จาก CRAB HOUSE ศูนย์การเรียนรู้ปูนาพระราม 2 แรก ๆ ที่นำมาเลี้ยงเกิดปัญหา คือ ปูตาย แต่พอเรียนรู้ไปสักพักทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง เริ่มเห็นช่องทางการตลาดมากขึ้น ปัจจุบันฟาร์มของคุณตุ๊กตามีทั้งบ่อดิน บ่อปูน และบ่อกระชังพลาสติก ส่วนใหญ่ที่มารับซื้อจะเป็นลูกค้าจากต่างจังหวัด ทั้งมารับซื้อถึงฟาร์ม บางรายก็จัดส่งไปให้ไม่เกิน 1-2 วัน หากลูกค้าที่อยู่ไกลจะไม่รับส่งให้เพราะจะทำให้ปูตายระหว่างการขนส่งได้ นอกจากนี้ก็ยังมีลูกค้าจากทาง สปป.ลาว สั่งออเดอร์รับซื้อไปหลายรอบด้วยเช่นกัน

 

 

ฟาร์มปูนา “ซูเปอร์แครบส์ปูนานครพนม” แห่งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการเพาะเลี้ยงและจำหน่ายเฉพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ลูกค้าที่มารับซื้อส่วนใหญ่ก็จะนำไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อ ปูนาที่นี่จะเป็นสายพันธุ์กำแพง เพาะเลี้ยงประมาณ 5-8 เดือน ก็จะมีขนาดลำตัวยาวถึง 4 เซนติเมตร พร้อมเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่สามารถจับขายได้ทันที เมื่อขนาดโตเต็มที่ 1 กิโลกรัม จะได้ปูประมาณ 25-30 ตัว หากจับขายจะขายเป็นคู่ ๆ ละ 80-100 บาท ปูนาจะเริ่มทำการผสมพันธุ์วางไข่ในฤดูฝน และเมื่อถึงฤดูหนาวจะขายได้ดีเนื่องจากเป็นฤดูที่หาปูได้ยาก

 

 

คุณตุ๊กตา ยังกล่าวต่ออีกว่า การเลี้ยงบ่อกระชังพลาสติกจะเป็นบ่อเลี้ยงเริ่มต้นของการเพาะพันธุ์ เมื่อปูผสมพันธุ์ออกลูกก็จะนำไปเลี้ยงต่อที่บ่อดิน เพื่อเลี้ยงเลียนแบบธรรมชาติ เพราะการเลี้ยงในบ่อดินปูจะเติบโตได้ดีกว่า เมื่อปูโตได้สักพักก็จะนำแยกออกไปเลี้ยงที่บ่อปูน หรือบ่อกระชังพลาสติกต่อไป โดยจะหมุนเวียนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ส่วนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่พร้อมขายก็จะขายออกไป รุ่นใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่ 1 บ่อ จะปล่อยปูประมาณ 30-40 ตัว หากเป็นไปได้แนะนำว่าอย่าปล่อยปูลงเยอะ เพราะนิสัยของปูจะไม่ชอบอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก เพราะปูจะเกิดความเครียดและจะหนีบกันตายในที่สุด หรือบางตัวอาจถูกปูตัวอื่น ๆ หนีบกันเองจนทำให้ก้ามหลุด ซึ่งพอถึงเวลาขายจะทำให้ได้ราคาไม่ค่อยดี คุณตุ๊กตา กล่าว

 

 

การเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปูนาในปัจจุบันยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้รับซื้อมากนัก เพราะในพื้นที่ยังไม่มีคนนิยมเลี้ยงกันมากเท่าไหร่ ขณะที่ตลาดของกลุ่มเลี้ยงปูนายังมีความต้องการสูงมาก เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่นิยมของคนต่างชาติ โดยเฉพาะการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปูนา เช่น อ่องปูนาที่ทำมาจากมันปู น้ำพริกปูนาปลาย่าง ปูนาไข่เค็ม และน้ำพริกปูนาตาแดง หรือแม้กระทั่งกระดองของปูนาที่สามารถนำไปวิจัยและสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยากสนับสนุนให้คนหันมาเลี้ยงปูนาให้เยอะ ๆ เพราะตลาดค่อนข้างกว้าง หรือใครที่สนใจอยากจะมาเรียนรู้เพิ่มเติมที่ฟาร์มก็ยินดีมอบความรู้ให้แบบไม่กั๊ก สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงปูนาตั้งอยู่ที่ ถนนชยางกูร (ทางไป อ.ธาตุพนม-มุกดาหาร) ห่างจากตัวเมืองนครพนมประมาณ 2 กิโลเมตร ตรงข้ามโรงแรมไอโฮเท็ล หรือติดต่อผ่านเพจเฟสบุ๊ค “ซูเปอร์แครบส์ปูนานครพนม”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง