รีเซต

จับสัญญาณ กนง.เสียงแตก มติ 5 : 2 ยืนกรานคงดอกเบี้ย 2.5%

จับสัญญาณ กนง.เสียงแตก มติ 5 : 2 ยืนกรานคงดอกเบี้ย 2.5%
TNN ช่อง16
10 กุมภาพันธ์ 2567 ( 10:48 )
40
จับสัญญาณ กนง.เสียงแตก มติ 5 : 2 ยืนกรานคงดอกเบี้ย 2.5%

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 มีขึ้นท่ามกลางการจับตาของทุกฝ่าย ซึ่งหากย้อนไปในช่วงปลายเดือน ม.ค.ถึงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จะเห็นว่า รัฐบาลพยายามส่งสัญญาณไปยัง ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% จากระดับปัจจุบัน 2.5% ต่อปีโดยให้เหตุผลว่า หากลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหลืออยู่ที่ระดับ 2.25% จะเป็น “พื้นที่” เพียงพอสำหรับองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นได้



นายปิติ ดิษยทัต  เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อธิบายเหตุผลว่า กนง.มีมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้ 


นอกจากนี้ กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย



กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปลายปี 2566 ขยายตัวชะลอลงกว่าคาดจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวช้าตามภาวะการค้าโลกและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ปรับลดลงและคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3 โดยการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 



สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้จากปัจจัยด้านอุปทาน ทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดย อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ และราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง แต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า และหากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงร้อยละ 1 ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม แต่ยังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ



ส่วนระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สำหรับการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้โดยรวมยังดำเนินการได้ตามปกติ ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยรวมยังได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อลดลงเล็กน้อยจากการชำระคืนหนี้เป็นหลัก ผู้ประกอบการในภาพรวมยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แม้การฟื้นตัวของรายได้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในบางอุตสาหกรรมอาจเผชิญภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวตามความระมัดระวังของสถาบันการเงิน 



นายปิติ กล่าวว่า ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง ประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหาเชิงโครงสร้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ซึ่งประเมินว่าการลดดอกเบี้ยในช่วงนี้ไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจมากนัก จึงเห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

สำหรับ 2 เสียงที่เห็นควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ให้เหตุผลว่าเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่ง 2 เสียงที่แตกต่างถูกตีความว่า กนง.มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้



ผลการลงมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ของ กนง. ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักวิเคราะห์ต่างชาติ ต่างปรับมุมมองว่า กนง.อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่การประชุมเดือน เม.ย. และอาจเป็นปัจจัยกดดันให้ช่วงนี้ เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ และตลาดยังคงคาดหวังกนง.จะลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้

ซึ่งหากดูสถิติในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่ามีการปรับขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 จากระดับ 0.50% ต่อปี โดยปรับ 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ 0.75% ต่อปี หลังจากนั้น กนง. ได้ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยปรับครั้งละ 0.25% ต่อปี จนถึงระดับ 2.50% ต่อปีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปรับขึ้นดอกเบี้ย 8 ครั้งต่อเนื่อง  ขณะที่การประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2566 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 กนง.ได้มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกที่ระดับ 2.50% ต่อปี






..............................................


เรียบเรียงโดย  ปุลญดา บัวคณิศร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง