รีเซต

10 "ข่าวปลอม" ประชาชนสนใจสูงสุดช่วง 5 - 11 กรกฎาคม มีเรื่องอะไรบ้าง?

10 "ข่าวปลอม" ประชาชนสนใจสูงสุดช่วง 5 - 11 กรกฎาคม มีเรื่องอะไรบ้าง?
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2567 ( 12:53 )
41

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 5 - 11 กรกฎาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 904,649 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 259  ข้อความ


สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 226  ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 33 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 218 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 84 เรื่อง โดยในจำนวนนี้มีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่


อันดับที่ 1 : เรื่อง  เพจศูนย์ออกบัตรใบขับขี่ จาก กรมการขนส่ง รับทำใบขับขี่ ต่อใบขับขี่ออนไลน์


อันดับที่ 2 : เรื่อง กระทรวงสาธารณสุขเปิดเพจเฟซบุ๊ก ชื่อกระทรวงสาธารณสุข


อันดับที่ 3 : เรื่อง กองทุนผู้สูงอายุ รับปันผลทันที รายได้บางส่วนจากกองทุนนำไปช่วยเหลือโรงพยาบาล


อันดับที่ 4 : เรื่อง เปิดโอกาสให้ร่วมเป็นหุ้นส่วนของอมตะ


อันดับที่ 5 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่เพื่อรับสมัครงานออนไลน์


อันดับที่ 6 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊ก Aurora Gold Trading. เปิดขาย SET 50 กองทุนรวมทองคำไทย


อันดับที่ 7 : เรื่อง ฮั่วเซ่งเฮง เปิดให้เทรดทองคำ ก้าวสู่สนามเทรดทองคำระดับโลก รับรองโดย ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ


อันดับที่ 8 : เรื่อง เปิดซื้อขาย SET 50/100 ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ฮั่วเซ่งเฮง HGF Gold future


อันดับที่ 9 : เรื่อง  เพจเฟซบุ๊ก Hua Seng Seng Gold Trade รับรองโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


อันดับที่ 10 : เรื่อง เพจเฟซบุ๊ก Trade Thai stocks จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย          


“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีการอ้างถึงหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอันดับ 1 เรื่องการแอบอ้างดำเนินการรับทำใบขับขี่ และต่อใบขับขี่ออนไลน์ ซึ่งเป็นข่าวปลอมที่มีการตรวจสอบและแจ้งเตือนเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก พบว่า เพจที่แอบอ้างดังกล่าว เป็นเพจปลอมซึ่งมิจฉาชีพจงใจทำขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาเงินประชาชน ซึ่งหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งในส่วนบุคคล หรือหากมีการแชร์ เผยแพร่ต่อๆกันไป อาจกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมได้” นายเวทางค์กล่าว


อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง