รีเซต

รีวิว BYD Seal 3 รุ่นย่อย สายประหยัดจัดรุ่นเริ่มต้น รุ่นท็อปแรงล้นเหลือ ระบบขับสี่ดี ติดแค่ช่วงล่าง

รีวิว BYD Seal 3 รุ่นย่อย สายประหยัดจัดรุ่นเริ่มต้น รุ่นท็อปแรงล้นเหลือ ระบบขับสี่ดี ติดแค่ช่วงล่าง
แบไต๋
27 กันยายน 2566 ( 12:22 )
1.3K

อีกครั้งกับ BYD ที่แบไต๋มีโอกาสได้ไปร่วมทดสอบประสิทธิภาพรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่อย่าง BYD Seal แมวน้ำไฟฟ้าที่จะมารุกตลาดรถซีดาน ซึ่งมีให้เลือกถึง 3 รุ่นย่อยด้วยกัน หลังจากเราเคยได้ไปทดสอบ BYD Dolphin น้องเล็กที่ค่อนข้างปราดเปรียว เหมาะกับการขับขี่ในเมือง ในขณะที่ Seal มีความดุดัน พุ่งทะยานมากกว่า ตอบโจทย์คนที่รักความสนุกเร้าใจในการขับขี่ เราประทับใจอะไรบ้างและแต่ละรุ่นเหมาะกับใคร ไปแบไต๋กันครับ

นายประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด

คู่แข่ง Tesla Model 3 เต็มตัว

BYD Seal ซีดานไฟฟ้า ที่จะมาท้าทายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดอย่าง Tesla Model 3 และในอนาคตจะมีตัวเลือกอื่น ๆ ตามมาอีก เช่น Neta GT และ ChangAn Deepal SL03 ซึ่งแต่ละคันก็มีคาแรกเตอร์ในแบบของตัวเอง แล้ว BYD Seal มีอะไรบ้างล่ะ?

เริ่มจากตัวถัง BYD Seal ออกแบบตัวถังในรูปแบบ Cell to Body 3.0 ซึ่งเป็นการวางชุด Blade Battery ติดไปกับโครงสร้างตัวถังบริเวณด้านล่างตัวรถ ทำให้แบตเป็นหนึ่งเดียวกับตัวรถมากขึ้น การจัดเรียงแบตเตอรี่เช่นนี้จะช่วยในเรื่องช่วงล่าง การยึดเกาะถนนได้ดีขึ้น ตัวถังแข็งแรงขึ้นและยังป้องกันแบตเตอรี่จากการกระแทกไปในตัว (มีตัวเลขระบุว่าช่วยรับแรงจากการชนด้านหน้าได้เพิ่มขึ้น 20% และด้านข้าง 30%) นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่ภายในห้องโดยสารกว่า 15 มิลด้วยกัน ทำให้ที่นั่งดูโอ่โถงยิ่งขึ้น

ประกอบกับตัวรถมีความกว้างฐานล้อค่อนข้างมากถึง 2,920 มิล (เทียบกับคู่แข่งอย่าง Tesla Model 3 มีระยะฐานล้อ 2,875 มิล) ทำให้พื้นที่ภายในห้องโดยสาร โดยเฉพาะแถวหลังค่อนข้างกว้าง มี Leg room เหลือเยอะเลยทีเดียว แต่ Head room กลับเตี้ย ด้วยความที่ช่วงท้ายตัวรถค่อนข้างลาดลงจึงเหมาะกับคนที่สูงไม่เกิน 190 ซม.

รุ่น AWD Performance

BYD Seal แบ่งออกเป็น 3 รุ่นย่อยได้แก่ AWD Performance (ขับสี่ล้อ AWD), Premium (ขับหลัง RWD) และ Dynamic (ขับหลัง RWD) ขออนุญาตเรียงจากตัวท็อปไปจนถึงรุ่นเริ่มต้นตามลำดับที่เราได้ขับขี่ตลอดทริปนี้ ซึ่งจุดเด่นของรุ่น Performance คือสมรรถนะการขับขี่สมชื่อ เพราะมาพร้อมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD

ที่ขาดไม่ได้คือระบบควบคุมแรงบิดอัจฉริยะ (I-TAC) เป็นระบบที่ช่วยตัดแรงบิดเมื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง เราได้ทดสอบระบบนี้ด้วยการขับรถเป็นรูปโดนัท โดยเหยียบคันเร่งมิดด้าม ตัวรถจะช่วยตัดกำลังแรงบิด ไม่ให้รถมีกำลังสูงจนหลุดโค้งนั่นเอง ขับวนอยู่ 2 รอบก็ออกโค้งได้สบาย ๆ โดยไม่กินไพลอน ซึ่งระบบ I-TAC ทำงานได้เนียนจนผู้ขับขี่แทบไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากคุมพวงมาลัยให้ดี

BYD Seal รุ่น Performance มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 82.56 kWh ขับขี่ได้สูงสุด 580 กม. (มาตรฐาน NEDC) ให้กำลังสูงสุด 523 แรงม้า แรงบิด 670 นิวตันเมตร มีอัตราเร่ง 0 – 100 กม./ชม. ภายใน 3.8 วินาที

อ่านจากตัวเลขก็รู้ได้ทันทีว่าแรง แม้แต่ในโหมด Eco หรือ Normal ตัวรถก็ยังออกตัวได้รวดเร็ว มุดตามท้องถนนได้ทันใจ แต่ในโหมด Sport เรารู้สึกว่าค่อนข้างกระชากตัวปุบปับไปนิด สำหรับใครที่ยังไม่ชินการเหยียบรถไฟฟ้าอาจหลังติดเบาะ อีกทั้งการดึงพลังงานกลับยังแรงจนคนนั่งแถวหลังมึนหัวได้ ซึ่งต้องใช้วิธีการเลี้ยงคันเร่งให้พอดีตัวรถถึงจะขับขี่ได้สมูตขึ้น

เราติดแค่อย่างเดียวที่ช่วงล่างของรุ่น Performance ยังรู้สึกเบาไปนิด ไม่แน่นเท่าไหร่ พร้อมรับแรงสะเทือนจากพื้นได้ค่อนข้างมาก ไม่รู้ว่าเป็นที่ตัวแบตขนาดใหญ่ที่ทำให้แรงสะเทือนจากถนนขึ้นมาถึงคนขับและคนนั่งได้ทันที โดยเฉพาะเวลาขับผ่านเส้นทางขรุขระ เพราะอาการนี้เห็นได้ชัดในรุ่น Performance และ Premium

รุ่น Performance นี้คงตอบโจทย์สำหรับคนชอบความเร็ว และจัดเต็มเทคโนโลยีขับขี่ เพราะระบบจะช่วยให้ผู้ขับขี่ขับได้มั่นใจขึ้น ตอบสนองได้ถึงใจ แม้เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสใช้งานระบบช่วยขับขี่เหล่านั้นบ่อย ๆ ก็ตาม ขับในเมืองโหมด Eco หรือ Normal ก็เพียงพอ ส่วนเวลาออกต่างจังหวัดทางโล่งยาว ๆ ค่อยเปลี่ยนมาใช้โหมด Sport ก็ไม่เสียหาย

รุ่น Premium

BYD Seal รุ่น Premium ให้ออปชันมาใกล้เคียงกับรุ่น Performance แต่ใช้ระบบขับเคลื่อนสองล้อหลัง RWD มาพร้อมแบตเตอรี่ขนาด 82.56 kWh ขับขี่ได้สูงสุด 650 กม. (มาตรฐาน NEDC) พูดง่าย ๆ ว่าเป็นรุ่นที่ขับขี่ไกลสุด ให้กำลังสูงสุด 308 แรงม้า แรงบิด 360 นิวตันเมตร มีอัตราเร่ง 0 – 100 กม./ชม. ภายใน 5.9 วินาที

รุ่น Premium พอเปลี่ยนมาใช้ระบบขับหลังอย่างเดียวรู้สึกได้เลยว่ากำลังลดลงไปเยอะ ทำให้โหมด Sport ที่เคยแรงเหลือล้นกลับลดกำลังลงมาได้พอดี เร่งได้ไม่หน่วงเยอะ ส่วนโหมด Eco พอกำลังลดลงไป ทำให้ต้องเหยียบหนักขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าตัวรถสูญเสียความปราดเปรียวแบบรุ่น Performance ไป แต่ได้ระยะทางจากก้อนแบตมากขึ้น ช่วงเรื่องช่วงล่างก็ยังรับแรงสะเทือนได้พอ ๆ กัน

ล้อแม็กซ์รุ่น Dynamic (ซ้าย), ล้อแม็กซ์รุ่น Premium และ Performance (ขวา)

ถามว่า Premium เหมาะกับใครก็คงตอบว่าเหมาะกับคนที่ใช้รถเดินทางไกลเป็นประจำ ออกต่างจังหวัดบ่อย ตัวรถยังคงเร่งความเร็วได้ แม้จะไม่ทันใจนัก เป็นรุ่นก้ำกึ่งระหว่างสมรรถนะหรือระยะการขับขี่ รวมถึงช่วงล่างยังเก็บอาการจากพื้นมาค่อนข้างมาก แต่ด้วยแบตเตอรี่ลูกใหญ่อุ่นใจกว่าเวลาเดินทางไกล

รุ่น Dynamic

รุ่นเริ่มต้นอย่าง Dynamic แม้จะมาพร้อมสเปกเริ่มต้นอย่างแบตเตอรี่ขนาด 61.44 kWh ขับขี่ได้สูงสุด 510 กม. (มาตรฐาน NEDC) ให้กำลังสูงสุด 201 แรงม้า แรงบิด 310 นิวตันเมตร มีอัตราเร่ง 0 – 100 กม./ชม. ภายใน 7.5 วินาที แต่ข้อดีคือเมื่อแบตก้อนเล็กลง ทำให้น้ำหนักตัวรถเบาขึ้น จึงขับได้ปราดเปรียวกว่ารุ่น Premium แถมพวงมาลัยกับช่วงล่างยังรู้สึกว่าแน่นกว่าด้วย

ภายในห้องโดยสารทั้ง 3 รุ่นให้ออปชันมาเหมือนกัน ตัวรถมาพร้อมจอแสดงผลกลางขนาด 15.6 นิ้ว และหน้าจอแสดงผลสำหรับคนขับ 10.25 นิ้ว ถือว่าให้มาค่อนข้างใหญ่ แต่ใหญ่จนโดนพวงมาลัยปิดทับบางส่วน ภายในห้องโดยสารมีจุด Air Bag 9 จุดรอบคัน คอนโซลกลางมีช่องชาร์จไร้สาย 2 ช่อง รวมถึงช่องเสียบ USB-A และ USB-C อย่างละ 1 ช่อง (ต้องหาดี ๆ นะมันอยู่ด้านล่าง ล้วงไปลำบากนิดนึง)

เบาะที่นั่งยังคงเป็นเบาะบักเกตซีตทรงสปอร์ตชิ้นเดียว แต่นั่งสบายขึ้นกว่า Atto 3 และ Dolphin โอบรับสรีระได้ดีกว่า เบาะศีรษะไม่ดันหัวมากเท่าไหร่ คนนั่งแถวหลังนั่งสบายยืดขาได้เต็มที่ แต่พื้นที่ head room กลับเตี้ยไปหน่อย (ประมาณสูง 185 แทบพอดีหัว) มีข้อสังเกตว่าการเชื่อมต่อ Apple CarPlay ไม่รองรับระบบไร้สาย และยังหา iPhone 15 ไม่เจอ แถมเมื่อใช้งานแล้วยังไม่รองรับการใช้งานบนจอแนวตั้ง (ทั้งที่เป็นจุดขายของแบรนด์ด้วย) ในขณะที่ฝั่ง Android Auto ต่อไร้สายได้ตามปกติ 

ต้องบอกว่า BYD Seal รุ่น Dynamic กลับกลายเป็นรุ่นที่เราชอบที่สุด เพราะตัวรถค่อนข้างใช้งานได้ดี ไม่จำเป็นต้องทำความเร็วระดับต่ำกว่า 4 วินาที ใช้งานในเมืองได้สบาย ๆ ด้วยระยะ 400 กม.ปลาย ๆ รวมถึงช่วงล่างและพวงมาลัยที่ไม่ต้องแบกแบตเตอรี่ก้อนใหญ่จึงทำให้ขับขี่ได้เนียนกว่าเวลาใช้งานบนท้องถนนจริง สิ่งที่ขาดไปคือเรื่องเทคโนโลยีขับขี่ แต่ก็พอตัดใจได้เพราะคุณคงไม่ได้ใช้มันบนท้องถนนบ่อย ๆ หรอกนะ

แถมให้เรื่องการใช้พลังงานเวลาขับขี่ในโหมดต่าง ๆ เริ่มจากโหมด Sport พบว่ามีอัตราสิ้นเปลืองพลังงานประมาณ 16 kWh/100km ตีคร่าว ๆ ว่าตกอยู่ที่ 6.25 km/kWh (ขับจริงอยู่ที่ประมาณ 510 กม.ในรุ่น Performance) ในขณะที่โหมด Eco และ Normal จะอยู่ที่ประมาณ 13 kWh/100km หรือประมาณ 7.7 km/kWh (ขับจริงอยู่ที่ประมาณ 470 กม.ในรุ่น Dynamic) ซึ่งก็ถือว่ากินพลังงานไม่เยอะมาก ถ้าเทียบกับ Dolphin เท้าหนัก ๆ ไฟหมดไวกว่าที่คิด ถ้าคุณไม่ได้เป็นคนเท้าหนักก็ขับขี่ได้สบาย ส่วนเรื่องราคา เดี๋ยวเรามาอัปเดตให้ฟังหลังจากเปิดราคาวันที่ 28 กันยายนนี้อีกทีนะ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง