รีเซต

ดราม่าโนเบล 2024 รากฐาน AI ควรได้รางวัลฟิสิกส์ ? พร้อมความเห็นนักฟิสิกส์ไทยต่อดราม่าระดับโลก

ดราม่าโนเบล 2024 รากฐาน AI ควรได้รางวัลฟิสิกส์ ? พร้อมความเห็นนักฟิสิกส์ไทยต่อดราม่าระดับโลก
TNN ช่อง16
9 ตุลาคม 2567 ( 15:53 )
32

“เจ้าพ่อ AI” เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) และจอห์น ฮอปฟิลด์ (John Hopfield) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ร่วมกันรับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2024 จากการที่ฮอปฟิลด์ได้พัฒนาแบบจำลองจดจำรูปแบบเฉพาะของข้อมูลอะตอม และฮินตันได้นำไปต่อยอดเป็นระบบโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network: ANN) ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทั้งหมดบนโลก


แต่การได้รางวัลดังกล่าว กลับทำให้นักฟิสิกส์บางส่วนจากทั่วโลกออกมาวิจารณ์สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) ซึ่งเป็นคณะกรรมการจัดงานว่ารางวัลดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เพราะการกระทำในครั้งนี้อาจเป็นการทำลายความหมายที่แท้จริงของการนิยามคำว่า "ฟิสิกส์"


ความเห็นแย้งของนักฟิกส์ต่อรางวัลโนเบลฟิสิกส์

ซาบีน ฮอสเซนเฟลเดอร์ (Sabine Hossenfelder) นักฟิสิกส์ทฤษฎี และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับโลกชาวเยอรมัน ได้ออกมาให้ความเห็นผ่านช่อง Youtube ของตนเองว่าการมอบรางวัลโนเบลในปีนี้ ทำให้ AI กลายเป็นศาสตร์หนึ่งของสาขาฟิสิกส์ในการพิจารณารางวัล ซึ่งเป็นการทำลายขอบเขตการศึกษาฟิสิกส์ที่ถูกต้อง "ถ้าจะบอกว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้เป็นฟิสิกส์ งั้นสูตรเด็ดคุกกี้คุณย่าฉันก็คงเป็นฟิสิกส์เหมือนกัน" ซาบีนกล่าวตอนหนึ่งในคลิปของตน


ในขณะที่ออสเตน ลามาคราฟท์ (Austen Lamacraft) นักฟิสิกส์เชิงสถิติ (Statistical physicist) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) กล่าวกับไซแอนซ์ (Science) วารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกว่า “แม้ว่า Neural Network จะเป็นส่วนหนึ่งของ Statistical physics แต่การมองว่า AI เป็นสาขาหนึ่งของฟิสิกส์ อาจสร้างความขุ่นเขืองให้กับนักฟิสิกส์อนุภาค (Particle physicist) และนักจักรวาลวิทยา (Cosmologist) ได้”


เพื่อทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าว TNN Tech ได้ติดต่อพูดคุยเชิงลึกกับ นาวิน งามภูพันธ์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์สุริยะ (Solar Physics) จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์อวกาศมุลลาร์ด (Mullard Space Science Laboratory) มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London: UCL) และหนึ่งในผู้ดูแลเพจสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์เลเวล 1 (Novice Physicist)


ทั้งนี้ นาวิน งามภูพันธ์ เป็นที่รู้จักจากการเป็นนักเรียนทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทย รุ่นที่ 1 หรือนักเรียนที่ไปเข้าค่ายอวกาศร่วมกับ NASA และปรากฏในพื้นที่สื่อเกี่ยวกับการให้ข้อมูลด้านฟิสิกส์และอวกาศ


นาวินเปิดเผยว่า นักฟิสิกส์ไม่น้อยที่มีมุมมองในเชิงต่อต้านการพิจารณา ANN เป็นส่วนหนึ่งของสาขาฟิสิกส์ เนื่องจากฟิสิกส์คือการศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติผ่านการมองการเคลื่อนที่ พลังงาน อุณหภูมิ หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ ต่างจาก ANN ที่นักฟิกส์มองว่าเป็นวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer science) มากกว่า


ทำไมโนเบลฟิสิกส์ถึงให้รางวัลกับงาน AI

อย่างไรก็ตาม ฮินตันได้ใช้แนวคิดฟิสิกส์เชิงสถิติ (Statistical physics) ในการออกแบบอัลกอริทึม (Algorithm) หรือระเบียบวิธีคิดทางคอมพิวเตอร์สำหรับ ANN ซึ่งต่อยอดมาจากงานของฮอปฟิลด์


โดยสิ่งที่ฮอปฟิลด์ทำคือการพัฒนาโครงข่ายที่เรียกว่า Hopfield Network ขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจำนวนมากเข้าด้วยกัน โดยได้นำผลจากการศึกษาอันตรกิริยา (Interaction) ของอะตอมแม่เหล็กแต่ละตัว ซึ่งแต่ละตัวจะมีลักษณะการหมุนที่ต่างกันออกไปมาเป็นต้นแบบแนวคิดของโครงช่ายดังกล่าว ซึ่งภายหลังได้รับการพิจารณาว่าเป็นโมเดลโครงข่าย ANN ยุคแรกเริ่ม


ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการฯ จึงพิจารณาว่าการวิจัยของทั้งสองที่เป็นรากฐานของ ANN ได้ใช้องค์ความรู้ทางฟิสิกส์เดิมที่มีสร้างองค์ความรู้ใหม่ของโลกอย่างการพัฒนา AI จึงสมควรได้รับรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ไปในที่สุด


ไม่ว่าทางไหน แต่ AI ก็จะมีบทบาทสำคัญกับฟิสิกส์

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ เดม เวนดี ฮอลล์ (Prof Dame Wendy Hall) นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเซาท์แธมป์ตัน (University of Southampton) กล่าวกับเดอะ การ์เดียน (The Guardian) ว่า “ไม่มีรางวัลโนเบลให้กับวิทยาการคอมพิวเตอร์มาก่อน นี่จึงเป็นวิธีการน่าสนใจมากที่สร้างขึ้นมา แต่ก็ผิดวิสัยเช่นกัน” 


ในขณะที่ ออเรเลียน เดเซลล์ (Aurélien Decelle) นักวิทยาการคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซแห่งมาดริด (Complutense University of Madrid) กล่าวกับ Science ว่า “นี่มันสุดยอดของที่สุด นี่คือการทำให้ผู้คนจดจำได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันสำคัญแค่ไหนในอีกระดับ”


ส่วนนาวิน งามภูพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายกับ TNN Tech ว่า “ANN มีบทบาทในวงการฟิสิกส์มานานพอสมควรแล้ว เนื่องจากมันเป็นตัวช่วยชั้นดีในการวิเคราะห์เซตข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น การค้นพบอนุภาคฮิกส์ โบซอน (Higgs boson), คลื่นความโน้มถ่วง หรือการถ่ายรูปหลุมดำ ก็ล้วนอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน ANN ทั้งสิ้น และรับประกันได้เลยว่า ANN จะถูกนำไปใช้ในวงการฟิสิกส์มากยิ่งขึ้นไปในอนาคต”


ข้อมูล Reuters, Phys.org, Science, The Guardian

ภาพ Reuters, Nawin Ngampoopun


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง