รีเซต

ข้อสังเกต "หุ้นได้-เสียประโยชน์" สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนรอบแรก

ข้อสังเกต "หุ้นได้-เสียประโยชน์" สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนรอบแรก
ทันหุ้น
8 พฤศจิกายน 2567 ( 12:41 )
14

#ทันหุ้น - บล.เคจีไอ ระบุ เพื่อเตรียมตัวรับมือสงครามการค้า 2.0 จากว่าที่ประธานาธิบดี สหรัฐ Donald Trump ฝ่ายวิจัยได้กลับไปศึกษาช่วงที่เกิดสงครามการค้าในปี 2561-62 เพื่อดูว่าเศรษฐกิจโลก, ค่าเงินดอลลาร์ฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งพบว่าค่าเงินดอลลาร์ฯ ดีดตัวขึ้นในช่วงแรกเพียงช่วงสั้นๆ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐขยับสูงขึ้นในช่วงปีแรกของสงครามการค้า แต่เป็นเพราะวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐในช่วงนั้นมากกว่าจะเป็นผลจากการตั้งกำแพงภาษี 

 

ส่วนในตลาดหุ้นไทย กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และอาหารและเครื่องดื่ม under-perform ตลาดโดยรวม ซึ่งทำให้ฝ่ายวิจัยยังคงมองภาพสองกลุ่มนี้แบบระมัดระวังในช่วงเดือนต่อๆ ไป นอกจากนี้ ยังมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นอาจจะช่วยหนุนกลุ่มธนาคารไทยในระยะสั้น แต่ GDP ปี 2568 และแนวโน้มดอกเบี้ยจะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางหุ้นกลุ่มธนาคาร 

 

ในช่วงที่เกิดสงครามการค้าปี 2561-2562 เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมากกว่าจีน ในขณะที่ผลกระทบต่อ GDP เอเชียมีทั้งบวก และลบจากการศึกษาเหตุการณ์สงครามการค้า 1.0 ที่มีการประกาศออกมาในเดือนมีนาคม 2561 และมีผลบังคับจริงในเดือนกรกฎาคม 2561 โดยฝ่ายวิจัยพบว่าเมื่อมีการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน ผลกระทบเชิงลบที่เกิดกับ GDP สหรัฐหนักกว่าที่เกิดกับ GDP ของจีน โดยมองว่าการที่จีนปล่อยให้ค่าเงิน RMB อ่อนค่าลงเพื่อชดเชยอัตราภาษีที่สูงขึ้น เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยดูดซับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในขณะนั้น 

 

ค่าเงินดอลลาร์ฯ ดีดตัวขึ้นตอนที่ประกาศสงครามการค้า 1.0 แต่ทรงตัวหลังวันที่มีผลบังคับใช้ ดังที่แสดงใน figure 3 ดัชนี US Dollar Index ขยับขึ้นมาประมาณ 6% ในช่วงหลังประกาศสงครามการค้าในเดือนมีนาคม 2561 ไปจนถึงช่วงที่มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2561 อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ฯ ทรงตัวหลังวันที่มีผลบังคับใช้ เรามองว่าค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งแกร่งในปี 2561 เป็นเพราะ Fed ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าจะเป็นเพราะผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษี 

 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้นในปีแรกของสงครามการค้า 1.0 แต่หลัก ๆ เป็นเพราะวัฏจักรดอกเบี้ยสหรัฐตอนนั้นมากกว่า ฝ่ายวิจัยยังพบอีกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ขยับเพิ่มขึ้นจาก 2.4% เป็น 3.2% ในช่วงปีแรกที่เกิดสงครามการค้า 1.0 อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรทราบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นในช่วงนั้นเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปี 2561 สูงขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ส่วนในวัฏจักรรอบนี้ มองว่า FOMC และ การกำหนดดอกเบี้ยในตลาด Futures จะเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 

 

ในส่วนของหุ้นไทย กลุ่มส่งออกอย่างเช่นอิเล็กทรอนิกส์ และ F&B ถูกกดดันในช่วงสงครามการค้า 1.0 ฝ่ายวิจัยทำการศึกษาการเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มต่าง ๆ ในช่วงปลายปี 2560 ถึงปลายปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามการค้า 1.0 ดำเนินอยู่ และพบว่ากลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมีเป็นกลุ่มที่ราคาหุ้นแข็งแกร่ง ซึ่งอาจจะสวนทางกับมุมมองของนักกลยุทธ์ในวัฏจักรรอบปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงปีแรกของสงครามการค้า 1.0 ราคาน้ำมัน WTi ขยับเพิ่มขึ้นประมาณ US$10/bbl จาก US$60 เป็น US$70 แต่ในอีกด้านหนึ่ง หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และ F&B กลับ under-perform จึงคิดว่านักลงทุนควรติดตามผลกระทบจากการเก็บภาษีของสหรัฐต่อภาคการส่งออกของไทย 

 

สำหรับกลุ่มธนาคาร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งสูงขึ้นอาจจะช่วยหนุนราคาหุ้นในระยะสั้น แต่ยังต้องติดตามโมเมนตัม GDP และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2568 ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (วัดจากดัชนีกลุ่มธนาคารไทย) ขยับขึ้นมาประมาณ 3.6% ในช่วง 3 เดือนหลังจากมีข่าวสงครามการค้าออกมาในช่วงปลายปี 2560 แต่หลังจากนั้นกลับตกลงอย่างหนักตลอดช่วงห้าเดือนถัดไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2561 โดยปัจจัยลบที่กดดันกลุ่มธนาคารในช่วงนั้นได้แก่ โมเมนตัมของ GDP ที่ชะลอตัวลง และการลดดอกเบี้ยในช่วงนั้น 

 

ส่วนในสถานการณ์ปัจจุบัน GDP ยังคงขยายตัวมาตั้งแต่ช่วง COVID-19 ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารยังเปราะบาง และการเติบโตของกำไรยังเผชิญความเสี่ยงจากแรงกดดันของ NIM จึงมองว่าหุ้นกลุ่มธนาคารน่าจะยังแข็งแกร่งในระยะสั้น แต่ยังต้องติดตาม GDP และแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศในปี 2568 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง