ระบบการขนส่งบนดวงจันทร์ด้วยหุ่นยนต์แมงมุม LATTICE
ทีมงานนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลเทค (Caltech) นำเสนอรูปแบบการขนส่งบนดวงจันทร์โดยใช้หุ่นยนต์แมงมุมแลททิส (LATTICE) สามารถแก้ปัญหาฝุ่นผง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยรบกวนขณะขนส่งบนดวงจันทร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสิ่งของถูกขนส่งไปบนเครือข่ายสายเคเบิลแบบไม่ตกสัมผัสพื้นที่เต็มไปด้วยฝุ่นผงบนดวงจันทร์ ซึ่งมักสร้างปัญหาการกัดกร่อนให้กับสิ่งของหรือชิ้นส่วนยานอวกาศ
หุ่นยนต์แมงมุมแลททิส (LATTICE) ทำงานโดยการเคลื่อนที่ด้วยกระสวยไปบนสายเคเบิลที่ถูกขึงเชื่อมต่อระหว่างขอบของหลุมอุกกาบาตความกว้างหลายกิโลเมตรและพื้นที่ด้านล่างของหลุมอุกกาบาต โดยมีระดับความชันอยู่ที่ 30-40 องศา เส้นทางที่สายเคเบิลลากผ่านจะมีสถานีจุดเชื่อมต่อเป็นระยะตลอดเส้นทาง เพื่อป้องกันไม่ให้สายเคเบิลหย่อนไปสัมผัสพื้นดาวจันทร์ โดยมีลักษณะการทำงานคล้ายกระเช้าลอยฟ้าจุดเล่นสกีและกีฬาในพื้นที่อากาศหนาวบนโลก
ระบบขับเคลื่อนของหุ่นยนต์บนสายเคเบิลใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีขนาดกะทัดรัดสำหรับใช้งานบนดวงจันทร์ สร้างแรงบิดเท่ากับรถแข่งสูตรหนึ่ง (Formula 1) สามารถช่วยให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว ทีมงานอยู่ในระหว่างการจดสิทธิบัตรของเทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้ารูปแบบใหม่นี้
ขีดความสามารถในการบรรทุกของหุ่นยนต์แมงมุมแลททิส (LATTICE) รองรับสิ่งของที่มีน้ำหนักมากกว่าตัวหุ่นยนต์หลายเท่า โดยมีจุดเด่นตรงการเคลื่อนรวดเร็วมากกว่าใช้ยานอวกาศวิ่งบนพื้นดวงจันทร์ซึ่งพบปัญหาฝุ่นจำนวนมากบนดวงจันทร์รบกวน ทีมงานยังไม่เปิดเผยประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าใดหรือขีดความสามารถในการรองรับสิ่งของเป็นตัวเลขน้ำหนักที่แน่นอน
นาซากำลังมีแผนการก่อสร้างสถานีสำรวจบนดวงจันทร์ โดยบริเวณหลุมอุกกาบาตเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการสำรวจ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์คาดว่าบริเวณพื้นของหลุมอุกกาบาตอาจมีน้ำหรือแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีพและแหล่งเชื้อเพลิงของยานอวกาศ
หุ่นยนต์แมงมุมแลททิส (LATTICE) ได้รับการปรับปรุงพัฒนาต่อยอดมาจากหุ่นยนต์ที่เคยส่งประกวดในปี 2021 ที่มีชื่อว่าหุ่นยนต์โฮมส์ (HOMES) หรือ Habitat Orientable & Modular Electrodynamic Shield ซึ่งมุ่งการป้องกันฝุ่นจากดวงจันทร์โดยการติดกระเบื้องสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบโมดูลาร์ เพื่อสร้างเกราะป้องกันฝุ่นแบบอิเล็กโทรไดนามิกเชื่อมต่อสายไฟส่งกระแสไฟฟ้าไปสร้างสนามไฟฟ้าที่ทำให้ฝุ่นละอองจากพื้นผิวดวงจันทร์ไม่ติดปกคลุมกับแผ่นกระเบื้องโดยอาศัยการสลับกระแสไฟฟ้า
หุ่นยนต์แมงมุมแลททิส (LATTICE) เป็นหนึ่งใน 7 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของโครงการ Breakthrough, Innovative and Game-changing (BIG) หรือการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของนาซา ในปี 2022 โดยสมาชิกในทีมงานพัฒนาหุ่นยนต์แมงมุมแลททิส (LATTICE) ประกอบด้วยนักศึกษาชั้นปริญาญาตรีทั้งหมด 60 คน
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Caltech.edu