รีเซต

เอฟทีเอดันไทยขึ้นเบอร์ 4 ส่งออกไอศกรีมโลก เผยเนื้อหอมผู้ผลิตรายใหญ่แห่ลงทุน

เอฟทีเอดันไทยขึ้นเบอร์ 4 ส่งออกไอศกรีมโลก เผยเนื้อหอมผู้ผลิตรายใหญ่แห่ลงทุน
ข่าวสด
19 กุมภาพันธ์ 2564 ( 15:35 )
65

เอฟทีเอดันไทยขึ้นเบอร์ 4 ส่งออกไอศกรีมโลก เผยเนื้อหอมผู้ผลิตรายใหญ่แห่ลงทุน แนะผู้ประกอบไทยเร่งพัฒนาและยกระดับสินค้า

 

ไทยขึ้นที่4ส่งออกไอศกรีม - นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าไอศกรีมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามอง เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปรับตัวได้ดีท่ามกลางกระแสการค้าโลกที่มีความท้าทายสูง โดยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากสินค้าไอศกรีมและน้ำแข็งอื่นๆ ที่บริโภคได้ ทุกรายการที่ส่งออกจากไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจาก 17 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง เหลือเพียง ญี่ปุ่น ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไอศกรีมและน้ำแข็งอื่นๆ ที่บริโภคได้ที่ 21-29.8%

 

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกไอศกรีมไปยังประเทศคู่เอฟทีเอมูลค่า 75.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3% (85.1% ของการส่งออกไอศกรีมทั้งหมด) เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยส่งออกไปอาเซียน 63.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1% (มาเลเซียเป็นตลาดส่งออกหลัก ขยายตัว 24%) เกาหลีใต้ 5.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 275% ออสเตรเลีย 2.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 328% และฮ่องกง 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11%

 

นอกจากนี้ ในปี 2563 ไทยขยับอันดับขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกไอศกรีมสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร และเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียนอีกด้วย

 

“ในระยะยาว คาดว่าอุตสาหกรรมไอศกรีมของไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้วยศักยภาพการผลิตสินค้า ข้อได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ตลอดจนความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบที่หลากหลายส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตต่ำ จึงถือว่าไทยมีความพร้อมที่จะก้าวไปเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไอศกรีมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตไอศกรีมรายใหญ่ของโลกต่างเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกไอศกรีมในภูมิภาค” นางอรมน กล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบไทยควรให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพมาตรฐานในการผลิต พัฒนาสินค้า คิดค้นรสชาติไอศกรีมที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ การเพิ่มส่วนผสมผลไม้เมืองร้อนกลุ่มมะพร้าว มะม่วง ทุเรียน ไอศกรีมจากนมถั่วเหลือง ไอศกรีมไขมันต่ำ ไอศกรีมน้ำตาลน้อย ตลอดจนไอศกรีมที่มีส่วนผสมของสมุนไพรบำรุงสุขภาพ เพื่อสร้างจุดขายไอศกรีมไทยในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมอาหารเพื่อสุขภาพ และทำให้ไอศกรีมของไทยเป็นที่รู้จักและครองใจผู้บริโภคในตลาดโลกยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง