รีเซต

ประชุมจนท.ระดับสูงไทย-อียู ครั้งที่ 15 หารือความร่วมมือรอบด้าน เร่งคุยเอฟทีเอ-ลงนามพีซีเอ

ประชุมจนท.ระดับสูงไทย-อียู ครั้งที่ 15 หารือความร่วมมือรอบด้าน เร่งคุยเอฟทีเอ-ลงนามพีซีเอ
มติชน
2 พฤศจิกายน 2563 ( 05:31 )
81
ประชุมจนท.ระดับสูงไทย-อียู ครั้งที่ 15 หารือความร่วมมือรอบด้าน เร่งคุยเอฟทีเอ-ลงนามพีซีเอ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง (ซอม) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ครั้งที่ 15 โดยมี นายศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป และ นางเปาล่า ปัมปาโลนี (Paola Pampaloni) รองอธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศของอียูเป็นประธานร่วม และมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าประชุมผ่านระบบทางไกลกว่า 50 คน

 

เหตุที่เวทีดังกล่าวมีความสำคัญก็เพราะเป็นเวทีในระดับที่สูงที่สุด และมีประเด็นการหารือที่ครอบคลุมที่สุดในมิติความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและอียู ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ดูแค่ผู้แทนฝ่ายไทยที่เข้าร่วมประชุมในปีนี้ซึ่งมีทั้งสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมประมง กรมป่าไม้ กรมองค์การระหว่างประเทศ กรมอาเซียน กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ขณะที่ฝ่ายอียูก็มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ภายใต้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) หลายคณะไม่แพ้กัน รวมถึงคณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทย ก็พอจะเห็นความสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายให้กับการประชุมครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

 

ย้อนไปในปี 2562 หลังจากอียูได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2562 ว่าจะเดินหน้ากระชับสัมพันธ์กับไทยให้เหนียวแน่นหลังการเลือกตั้ง และเตรียมฟื้นการเจรจาการค้าเสรีระหว่างกัน เพียงอีก 2 วันถัดมาคือในวันที่ 16 ตุลาคม นายศศิวัฒน์ก็ได้เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงไทย-อียู ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงต่างประเทศอียูในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยในการประชุมดังกล่าวทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำจุดยืนในการเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมยืนยันที่จะฟื้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-อียู และเร่งรัดการเจรจาเพื่อลงนามในร่างความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement – พีซีเอ) โดยเร็ว

 

การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงไทย-อียู ครั้งที่ 15 จึงเป็นการสานต่อเจตนารมย์ดังกล่าว รวมถึงขยายความร่วมมือไปยังประเด็นที่เห็นว่าทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันต่อไป

 

ในการประชุมครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนาการทางการเมืองทั้งในไทยและอียู พร้อมยืนยันที่จะเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างกันบนพื้นฐานค่านิยมร่วมให้แน่นแฟ้นในทุกมิติต่อไป โดยเฉพาะในการเร่งรัดการเจรจาร่างความตกลงพีซีเอซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะลงนามให้ได้ภายในปี 2564 นอกจากนี้ ฝ่ายอียูได้ยืนยันความพร้อมที่จะฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทยในโอกาสแรก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายจะหารือกันในรายละเอียดในการประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุนไทย-อียูในเดือนธันวาคมปีนี้

 

นอกจากนี้ยังพูดถึงประเด็นที่จะส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกด้านอื่นๆ ที่จะทำให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การจัดตั้งเวทีการหารือด้านความมั่นคงไทย-อียู (Thai-EU Security Dialogue) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางทะเล และความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนางเฟเดริกา โมเกรินี รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนอียูด้านการต่างประเทศในขณะนั้น ระหว่างเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (AMM/PMC) เมื่อปี 2562

 

ที่ประชุมยังได้หารือถึงการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ที่แม้ไทยจะถูกปลดธงเหลืองไปแล้วในปี 2562 แต่ไทยและอียูยังยืนยันที่จะสานต่อความร่วมมือในเรื่องนี้อย่างแข็งขันต่อไป ทั้งในมิติความสัมพันธ์ไทย-อียู และยังจะขยายความร่วมมือไปในระดับภูมิภาค ผ่านเครือข่ายการต่อต้านการทำประมงไอยูยูของอาเซียน (ASEAN Network on Combating IUU Fishing – AN-IUU) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย ที่จะมีการประชุมครั้งแรกในเดือนธันวาคมนี้ นอกจากนี้ไทยยังได้แสดงความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบใบรับรองการจับสัตว์น้ำแบบอิเล็กทรอนิกส์ของอียู (IT System CATCH for the EU IUU Catch Certificate) โดยอาจนำไปสู่การเชื่อมกับระบบของไทยในอนาคตต่อไป

 

ในประเด็นเรื่องมาตรฐานแรงงาน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะหารือในกรอบการประชุมว่าด้วยแรงงานไทย-อียู (Thai-EU Labour Dialogue) ต่อไป และจะสานต่อความร่วมมือในระดับเทคนิค โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบการประกันสังคม ความคุ้มครองทางสังคม และการส่งเสริมการเจรจาทางสังคม

 

นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้าไม้ผิดกฎหมายและอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งอียูยินดีต่อความก้าวหน้าในการเจรจากับฝ่ายไทยในการจัดทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreement – VPA) ในการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (Forest Law Enforcement, Governance and Trade – FLEGT) โดยรับที่จะพิจารณาการสนับสนุนกระบวนการเจรจาและการปฏิบัติตามข้อตกลงของฝ่ายไทย ทั้งในเชิงเทคนิคและเงินทุนสนับสนุนในระยะต่อไปด้วย

 

 

สำหรับประเด็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งไทยและอียูเห็นว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นแนวนโยบายร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายจึงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในสาขานี้ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยอียูได้เสนอให้จัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเฉพาะด้าน และฝ่ายไทยได้แสดงความสนใจที่จะหารือเรื่องมาตรการการลดคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างกัน และประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศกับโครงการ Copernicus Programme ของอียูเพื่อจัดทำระบบเตือนค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ล่วงหน้าสำหรับประชาชน

 

ในด้านการเชื่อมโยง (connectivity) ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการเชื่อมประสานยุทธศาสตร์ด้านความเชื่อมโยงของอาเซียนภายใต้แผน Master Plan on ASEAN Connectivity กับยุทธศาสตร์ Connecting Europe and Asia ของอียู โดยเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติทั้งดิจิทัลและระหว่างประชาชน ผ่านกรอบพหุภาคีต่างๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเป็นสมาชิก เช่น กรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – อาเซม) ทั้งนี้ฝ่ายอียูเน้นย้ำว่าปัจจุบันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่อาจพึ่งงบประมาณภาครัฐฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป

 

สุดท้ายคือความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางอากาศ ฝ่ายไทยได้ติดตามความคืบหน้าจากการประชุมในปีที่ผ่านมาเรื่องความร่วมมือในการส่งเสริมขีดความสามารถของไทยด้านเฮลิคอปเตอร์การแพทย์ ซึ่งฝ่ายอียูรับที่จะไปหารือในรายละเอียดกับหน่วยงานของอียูที่เกี่ยวข้อง และแจ้งผลให้ฝ่ายไทยทราบในโอกาสแรก

 

อธิบดีศศิวัฒน์กล่าวว่า สาระความร่วมมือระหว่างไทย-อียูก็เป็นความร่วมมือที่ครอบคลุมรอบด้านด้วยตัวของมันเอง แต่ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงอียู เรามักพูดถึงแค่ในด้านการค้าการลงทุน แต่น้ำหนักของอียูในเวทีระหว่างประเทศ เรามักไม่ค่อยพูดถึงกัน เมื่อพูดถึง European Standard มันครอบคลุมทุกเรื่อง ตั้งแต่อาหาร รถยนต์ ข้าวของเครื่องใช้ สินค้าหรู ไปจนถึงงานดีไซน์ ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้น่าจะมีประโยชน์กับไทย ขณะที่ประเด็นที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมครั้งนี้ก็มาจากการระดมความเห็นและสอบถามความต้องการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ว่าองค์ความรู้ใดจากอียูที่จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยได้

 

ตัวอย่างเช่นประเด็นการส่งเสริมขีดความสามารถของไทยด้านเฮลิคอปเตอร์การแพทย์ ก็จะช่วยเสริมศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทยในระยะยาว หรือระบบเตือนค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ก็จะช่วยให้ไทยสามารถคิดคำนวนและประมวลผลสภาพอากาศเพื่อให้เรามีองค์ความรู้ความเข้าใจปัญหา PM 2.5 ได้ดีขึ้น

 

ขณะที่การจัดทำเอฟทีเอไทย-อียูในอนาคตก็จะไม่ได้มีแค่เรื่องการค้าการลงทุนหรือการเข้าถึงตลาด แต่ยังจะมีบทว่าด้วยการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะพูดถึงเรื่องอื่นๆ อาทิ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาตรฐานแรงงาน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การค้าและการบริการทางการเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา โดยคณะเจรจาต้องหารือในประเด็นที่มีความเห็นไม่ตรงกันต่อไป

 

ไทยได้พูดกับฝ่ายอียูมาตลอดว่าความตกลงที่มีควรเป็นความตกลงที่ทำได้จริง มิติที่ควรมีคือการเสริมสร้างขีดความสามารถของไทยในทางปฏิบัติ เพื่อที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากความตกลงที่จะมีขึ้นได้อย่างเต็มที่ ซึ่งต้องมีการหารือกันในรายละเอียดกันในอนาคต

 

“เราไม่ควรมองว่ามาตรฐานของยุโรปเป็นภาระสำหรับเรา เพราะเราสามารถนำมาตรฐานนั้นมายกระดับประเทศของเราเอง โดยเฉพาะในแง่ชีวิตความเป็นอยู่ของคน เพราะการที่จะได้มาตรฐานใดๆ มา นั่นหมายความว่าเราต้องได้องค์ความรู้ของเขามาด้วยเช่นกัน”อธิบดีศศิวัฒน์ย้ำ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง