รีเซต

ฝ่าโควิด ผู้ส่งออกใช้สิทธิประโยชน์ใต้’เอฟทีเอ-จีเอสพี’ 7เดือนเกือบ 80%

ฝ่าโควิด ผู้ส่งออกใช้สิทธิประโยชน์ใต้’เอฟทีเอ-จีเอสพี’ 7เดือนเกือบ 80%
มติชน
26 ตุลาคม 2563 ( 11:01 )
91
ฝ่าโควิด ผู้ส่งออกใช้สิทธิประโยชน์ใต้’เอฟทีเอ-จีเอสพี’ 7เดือนเกือบ 80%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 โดยมูลค่าการใช้สิทธิรวม 35,421.85 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.94% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 32,875.25 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,546.60 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์7 เดือนแรกปี 2563 ลดลง 14.77 %

 

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 32,875.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 15.88 % มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.69% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน มูลค่า 11,152.89 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. อาเซียน มูลค่า 10,798.63 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ญี่ปุ่น มูลค่า 3,890.21 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. ออสเตรเลีย มูลค่า 3,426.95 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. อินเดีย มูลค่า 1,784.67 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย-ชิลี 100% 2. อาเซียน-จีน 91.62% 3. ไทย-เปรู  89.56% 4. ไทย-ญี่ปุ่น 83.83% และ 5. อาเซียน-เกาหลี  73% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ยานยนต์เพื่อขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป มันสำปะหลัง เป็นต้น

 

 

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง มกราคม-กรกฎาคม 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 2,546.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.61% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ  81.32% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,243.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.49% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ  83.24%

 

อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 200.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 29.17% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ  62.66% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิ 84.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 4.92% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ  84.60% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 18.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 34.72% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 100%

 

สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ กรดซิทริก เลนส์แว่นตาทำด้วยวัสดุอื่นๆ ฐานรองฟูกทำด้วยยางเซลลูลาร์หรือพลาสติก เป็นต้น

 

สำหรับสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป ไทยยังคงเป็นครัวของโลกที่มีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าดังกล่าวได้อย่างหลากหลาย และสามารถส่งออกไปหลายประเทศคู่ค้าได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว

 

โดยสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม (อาเซียน) ผลไม้สด (อาเซียน) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน) น้ำผลไม้ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ปลาทูน่าปรุงแต่ง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกล็ดธัญพืช (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เต้าหู้ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) ซอสปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน-จีน) กุ้ง (อาเซียน-จีน) ข้าวโพดหวาน (อาเซียน-เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (ไทย-เปรู, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) ไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส (ไทย-ญี่ปุ่น) เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง