รีเซต

สรยท.เปิดเวทีถกรถยนต์ไฟฟ้า ประสานเสียงรัฐต้องชัดเจน

สรยท.เปิดเวทีถกรถยนต์ไฟฟ้า ประสานเสียงรัฐต้องชัดเจน
มติชน
21 ธันวาคม 2563 ( 10:21 )
86

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) จัดงานเสวนาทางวิชาการ เปิดมุมมองเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า จากผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย ในหัวข้อ “โลกาภิวัตน์สู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า สังคมไทยพร้อมเปลี่ยนแปลงหรือยัง” โดยมีนายวชิระ เรืองมาลัย นายกสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนา มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความกระจ่าง ชี้เทรนด์ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก ประกอบด้วย นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย, นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการผู้เชี่ยวชาญ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด, นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และนายพงศ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 มากล่าวปาฐกถาพิเศษกล่าวเปิดการสัมมนาในครั้งนี้

 

⦁จี้รัฐเร่งปลดล็อกรับมือสังคมรถไฟฟ้า

นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 กล่าวว่า เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่ ประชาชนผู้ใช้รถยนต์, ผู้ผลิตรถยนต์-ผู้ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า และภาครัฐ ภาคผู้ใช้ประชาชนและผู้ผลิตรถยนต์และติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ามีความพร้อม อยากจะใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปภายในมาเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมตามแผนธุรกิจขององค์กร แต่ที่น่าเป็นห่วงคือภาครัฐที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ขณะยังรวมกันไม่ได้ยังมีความคิดเห็นที่ต่างกัน

ถ้าจะมีการผลิตไฟฟ้าอย่างการผลิตไฟฟ้าในชุมชน คือการทำให้ชุมชนมีการผลิตไฟฟ้าใช้ชุมชน กรณีนี้จะเอื้ออำนวยทำให้สังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมไฟฟ้าแล้วทำให้การนำเครื่องชาร์จไฟฟ้าไปตั้งในที่ต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้นและไม่ต้องพึ่งระบบไฟฟ้าส่วนกลาง เพราะถ้าทุกคนใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมด ไฟฟ้าในประเทศมีไม่เพียงพอ เราต้องมีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าเองในชุมชน ไฟฟ้านั้นอาจจะมาจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานน้ำ

นอกจากนี้ยังข้อกฎหมายที่ไม่สามารถให้ภาคเอกชนหรือประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองและเหลือใช้ก็สามารถจำหน่ายในชุมชนได้ ภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจที่จะเข้ามาสู่วงการยานยนต์ไฟฟ้าต้องมีเสียงสะท้อนกลับไปบ้างกับภาครัฐให้มีความรู้สึกเห็นด้วยกับพวกเราและเอาหน่วยงานต่างๆ มาพูดคุยกันและเปลี่ยนสังคมเราเป็นสังคมไฟฟ้าได้

 

⦁เทรนด์รถไฟฟ้าแนวโน้มตอบรับดี

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมมีจุดประสงค์หลักตั้งเป้าหมายเดียว คือ ลดมลพิษให้ได้มากที่สุด ทำให้การทำงานของสมาคมไม่ได้มองเพียงแค่อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเดียว สมาคมยังได้ตั้งเป้าหมายว่าจะลดมลภาวะกับภาคขนส่งอย่างไร รวมทั้งยังตั้งเป้าหมายต่อไปที่จะลดฝุ่นละออง PM2.5 อีกด้วย ทำให้สมาคมมีส่วนร่วมในการลดมลภาวะทุกรูปแบบโดยให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและการให้ข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกทั้งสิ้น 233 ราย แบ่งเป็นสมาชิกองค์กรจำนวน 152 ราย และสมาชิกบุคคลทั่วไปจำนวน 81 ราย การทำงานในช่วงที่ผ่านมามีหลายบริษัทแสดงความจำนงขอเข้าร่วมประชุมกับสมาคมมากขึ้น เพราะทุกฝ่ายเริ่มกังวลว่าการมาของรถยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างไร

 

“การเข้ามาร่วมประชุมกับสมาคมก็เพื่อมาสอบถามข้อมูลว่า สิ่งที่เขาคิดตรงกับแนวทางที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ยกตัวอย่าง ความปลอดภัยของไซเบอร์เรื่องการโอนถ่ายข้อมูลสถานีชาร์จไฟ หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาของ ขสมก.จะจัดจ้างรถเมล์ไฟฟ้า 100 คัน เข้ามา นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงเรื่องการรถเมล์ไฟฟ้าประกอบในประเทศ โดยใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศเกินกว่า 40% จะเป็นไปได้ไหมก็มาคุยกับเรา อย่างธนาคารไทยพาณิชย์หรือธนาคารกสิกรไทยก็มาคุยกับเราเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ถ้าลูกค้ามีการใช้พลังงานทางเลือกหรือเปลี่ยนจากการขนส่งมาเป็นการใช้รถไฟฟ้าก็จะพิจารณาคิดดอกเบี้ยพิเศษให้ รวมถึงองค์กรนานาชาติต่างๆ อย่างสถานทูตนอร์เวย์หรือสิงคโปร์ที่จะหานักลงทุนแบบจอยท์ เวนเจอร์ (Joint Venture) หรือผู้ร่วมทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

 

อีกกลุ่ม คือ ซัพพลายเออร์ในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเทียร์ 1 หรือ เทียร์ 2 ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หรือเครื่องยนต์ต่างๆ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มคิดแล้วว่าในการเปลี่ยนแปลงประมาณ 5 ปีข้างหน้าจะส่งผลต่อการลงทุนธุรกิจของเขาอย่างไรบ้าง ตรงนี้คิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากจึงมีการระดมความคิดเห็นเพื่อให้เดินไปในทางเดียวกันได้

 

ปัจจุบัน ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) รวมไปถึงปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า แนวโน้มของโลกถ้าดูจากอัตราการเติบโตกลุ่มรถยนต์ไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด มีอัตราการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี (BEV) ในปี 2019 มีถึง 2.5% ของรถยนต์ทั่วโลก ในยุโรปมีอัตราการเติบโตถึง 93% จีน 17% ประเทศอื่นๆ 23% เหตุที่ยุโรปเติบโตเพราะมีการตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) วิธีการลดจึงต้องตั้งเป้ามีรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไป นับว่าเรายังเพิ่งตั้งไข่ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

 

ในปีนี้ตลาดยานยนต์โลกมีการตั้งเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงปี 2030 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 11.2 ล้านคันในปี 2025 และจะเป็นจำนวน 31 ล้านคันในปี 2030 ด้วยอัตราการเติบโตแบบนี้คาดว่าจะมีสัดส่วน 32% จากยอดจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก จากเป้าหมายของตลาดรถยนต์โลกข้างต้นนี้มีนัยสำคัญ เพราะประเทศไทยมองแบบนี้ไม่ต่างกับที่มีนโยบายตั้งเป้าให้มีถึง 30% ของการขาย xEV ภายในปี 2030 ก็มีการคาดการณ์ว่าตลาดจีนจะเป็นผู้นำตลาด xEV ที่มีสัดส่วนถึง 49% ของ xEV ทั้งโลก ส่วนยุโรปมีประมาณ 27% มองว่าประเทศจีนเป็นประเทศหลักที่จะเป็นผู้นำ xEV

 

สำหรับประเทศไทยตลาดรถยนต์ทั่วไปมีการเติบโตขึ้นมาในปี 2012 ที่มีการผลิตขายในประเทศและส่งออกถึง 2.4 ล้านคัน การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศมีจำนวนครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป อาเซียน เอเชีย ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย

 

คำถามว่าประเทศพวกนี้พร้อมไปแนวทาง xEV แล้วหรือไม่ ตัวนี้จะเป็นนัยยะสำคัญกับเรา เพราะจะเดินต่ออย่างไร เพื่อรักษาฐานการผลิตของเราได้ต่อหรือไม่ คิดว่าภาครัฐก็มองไม่ต่างกัน

 

 

“เรามีรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดสะสมมากว่า 160,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1,800 คัน รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ากว่า 2,500 คัน จะเห็นว่าเทรนด์เริ่มเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ในปี 2019 ที่ผ่านมา รถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดมียอดจดทะเบียนสะสมกว่า 3,000 คัน รถยนต์ไฟฟ้า 2,500 คัน ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีความคึกคักมากอย่าง MG ZS EV ที่มีราคาประมาณกว่า 1 ล้านบาท ที่มียอดจดทะเบียนจากปี 2561 ประมาณ 300 คัน เพิ่มขึ้นมากว่า 1,500 คันในปี 2562 และในปี 2563 นี้ 8 เดือนแรกมียอดการจดทะเบียนถึง 1,572 คัน หรือมียอดจำหน่ายเทียบเท่าทั้งปีของปี 2562 ที่ผ่านมา แม้ว่ากลุ่มรถยนต์แมสมาร์เก็ตอาจจะมีผู้เล่นไม่มาก หลักๆ มี เอ็มจี นิสสัน และต่อไปจะมีเกรท วอลล์ มอเตอร์ ก็จะเป็นเทรนด์เติบโตก้าวกระโดดขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาจำหน่ายไม่ถึง 1 ล้านบาท แสดงว่าดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ถือว่าไม่ได้แย่ แต่จะเติบโตต่อได้หรือไม่ต้องผ่านเรื่องของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพราะต้องใช้เวลาการชาร์จค่อนข้างนาน 2 อย่างนี้ต้องมาด้วยกันระหว่างตัวรถยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างงพื้นฐานของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามารองรับ” นายกฤษฎากล่าวสรุป

 

⦁เอกชนพร้อมลุยขยายสถานีชาร์จ

ขณะที่นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการผู้เชี่ยวชาญ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า กล่าวว่า ในส่วนของผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า ให้กับรถยนต์ไฟฟ้า และปลั๊กอินไฮบริด ภายใต้แบรนด์ อีเอ เอนีแวร์ (EA Anywhere)? ตลอด 3 ปีที่เริ่มดำเนินการติดตั้งระบบชาร์จไฟฟ้า ทั้งระบบ AC (กระแสไฟฟ้าสลับ) และ DC (กระแสไฟฟ้าตรง) จนถึงปัจจุบัน มีสถานีชาร์จไฟฟ้า 405 แห่ง 1,611 หัวจ่าย สำหรับตัวเลขการใช้บริการของคนใช้รถทั้งปลั๊กอินไฮบริด มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และโตกว่า 100% ทุกปี โดยเฉพาะการให้บริการของ EA Anywhere ใช้ระบบสมาชิกผ่านแอพพลิเคชั่น ช่วงแรกของการเปิดให้บริการในปี 2561 มีสมาชิกประมาณ 500-600 ราย แต่ในปัจจุบัน มีสมาชิกแล้วกว่า 8,000 ราย ในอนาคตทาง EA Anywhere มีแผนจะขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแหล่งชุมชน และแหล่งช้อปปิ้งต่างๆ ต้องดูพฤติกรรมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า หรือ ปลั๊กอินไฮบริด ของผู้บริโภคเป็นตัวกำหนด ส่วนอัตราค่าบริการที่ใช้ในปัจจุบันอยู่ที่ละ 6.50 บาท/1Kv แต่หากเป็นสถานที่ของเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้า จะมีค่าบริการ
เพิ่มขึ้น หากใช้บริการเกินเวลาที่กำหนด

 

⦁อุตฯยานยนต์ชี้3ประเด็นแจ้งเกิด

นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า ใน 3 ประเด็นหลัก ทั้งผู้บริโภค, ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า และภาครัฐ คือ เรื่องความกังวลเกี่ยวกับทิศทางภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังไม่ชัดเจน ภาครัฐควรมีแผนว่าจะส่งเสริมรถพลังงานทางเลือก อย่างไฮบริด หรือปลั๊กอินไฮบริด ถึงเมื่อไหร่ และใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะก้าวเข้าสู่ยุคของการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

 

ประเด็นต่อมาคือ ความชัดเจนของแผนการสนับสนุนการผลิตรถพลังงานไฟฟ้า ต้องครอบคลุมทั้งภาคการผลิต เทคโนโลยี ระบบขับเคลื่อน แบตเตอรี่ ควรกำหนดถึงการใช้เทคโนโลยี ต้องใช้ควรผลิตในประเทศ จุดยืนของสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ สนับสนุนเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถพลังงานไฟฟ้าทุกรูปที่มีการพัฒนาขึ้นในประเทศ เพื่อให้เป็นผลประโยชน์ของไทยเราเอง

 

ส่วนในเรื่องความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคนั้น สภาอุตฯมองว่า ปัจจุบันในหลายประเทศ ดีมานด์ที่เกิดขึ้นเป็นดีมานด์เทียม เพราะมีการอุดหนุนจากภาครัฐ แต่เรื่องความต้องการรถพลังงานไฟฟ้า คิดว่าไม่น่ากังวล เพราะผู้บริโภคในปัจจุบัน มองความคุ้มค่าของตัวผลิตภัณฑ์ มากกว่าจะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

 

“การขยายตัวของตลาดรถพลังงานไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับการที่สามารถพัฒนา และผลิตรถไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ให้ใช้งานได้เท่าๆ กับรถยนต์ และมีความคุ้มค่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยที่สร้างความต้องการ และถึงเวลานั้น บริษัทผู้ผลิตก็จะผลิตรถ EV มาแข่งขันกันเพื่อตอนสนองความต้องการ” นายองอาจกล่าว

 

ประเด็นสุดท้ายคือ ต้องมีแผนที่ชัดเจนในการรักษาสถานภาพของฐานการผลิตรถยนต์ไทย เพราะหากจะพูดกันจริงๆ ไทยเป็นฐานการประกอบรถยนต์ และยังไม่มีเทคโนโลยีรถยนต์ของตัวเอง หากก้าวเข้าสู่ ยุคของอุตสาหกรรมรถ EV และสามารถใช้เทคโนโลยีที่ไทยสามารถผลิตเองได้ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า หรือแบตเตอรี่ จะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาภาคการผลิตของไทยอีกด้วย

 

⦁เอ็มจีส่งรถไฟฟ้า‘อีพี’9.88แสนบุก

นายพงศ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับเอ็มจีเรื่องโลกาภิวัตน์ได้มองเห็นมานานแล้ว ทิศทางยายนต์โลกจึงถูกกำหนดไว้ 4 ทิศทางด้วยกัน คือ การเชื่อมต่อ (Connectivity), เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous), พลังงานทางเลือกใหม่ (New Energy) และโลกาภิวัตน์ (Globalization) ล้วนเป็นทิศทางตลาดยานยนต์โลก

 

หลังจากแซคมอเตอร์ได้เป็นเจ้าแบรนด์เอ็มจีได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องและได้มีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ลงสู่ตลาดทั้งใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน จนปัจจุบันได้ก้าวสู่การแนะนำรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ๆ สู่ตลาดมากขึ้น ตามนโยบายรัฐเปิดกว้างมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นโอกาสของเอ็มจี รถยนต์รุ่นแรกตัว คือ เอ็มจีZS EV นับเป็นรถพลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรก มียอดขายตั้งแต่เปิดตัวมากว่า 2,500 คัน ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย 90% และในเดือนตุลาคม 2563 เอ็มจี ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่มาเสริมตลาด คือ เอ็มจี HS PHEV และในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2020 ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100% อีกรุ่นคือ เอ็มจี EP คาดว่าจะมาสร้างสีสันให้กับตลาดรถไฟฟ้าได้อย่างมาก เหนือสิ่งอื่นใดจะเป็นการเข้ามาตอกย้ำผู้นำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้กับเอ็มจีได้อีกด้วย ด้วยแนวโน้มตลาดรถยนต์ของโลกรถยนต์ไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีสูง แต่มีจุดเด่นสามารถซ่อมบำรุงดูแลรักษาง่าย ใช้งานง่าย รักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นรถยนต์ไฟฟ้าจึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นรถยนต์แห่งอนาคตของโลก

 

“การเปิดตัว เอ็มจี EP นอกจากจะมาสร้างสีสันให้กับตลาดรถไฟฟ้าแล้ว ด้วยราคาจะเป็นการเปิดทางให้ลูกค้าหันมาใช้รถไฟฟ้าง่ายขึ้น นอกจากนี้รถไฟฟ้า แม้จะเป็นรถใช้เทคโนโลยีสูง แต่เป็นรถดูแลรักษา ใช้งานง่าย และซ่อมบำรุงง่าย จึงมีความสมจะเป็นรถยนต์แห่งอนาคต มีเพียงสถานีชาร์จไฟฟ้าเท่านั้นที่ยังไม่เพียงพอทุกพื้นที่การใช้งานของผู้บริโภค แต่สำหรับเอ็มจีในปี 2564 จะเปิดโชว์รูมเพิ่มเป็น 150 แห่ง สามารถรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าได้ทุกสาขา และมีสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ดีลเลอร์ 100 แห่ง และขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าอีก 500 แห่งในปี 2564 อีกด้วย” นายพงศ์ศักดิ์กล่าวในที่สุด

 

อนึ่ง เอ็มจี อีพี เปิดตัวราคาเริ่มต้น 988,000 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง