สิ้นสุด “โลกาภิวัฒน์” ? .. โลกไม่ได้ปิด แต่โลกเลือกคบกันมากขึ้น

สหรัฐอเมริกา ประเทศที่รั้งตำแหน่งทุนนิยมเสรีมายาวนานนับร้อย ๆ ปี ผลักดันให้เกิดโลกแห่งการแข่งขันที่เปิดกว้าง เสรี และเป็นธรรมมาตลอด แต่ปัจจุบัน ก็เป็นสหรัฐอเมริกาเอง ที่กำลังผลักดันให้โลกเข้าสู่ยุคแห่งการ “พึ่งพาตนเอง-ปิดกั้น และโดดเดี่ยว”
“ ‘โลกาภิวัฒน์’ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถยับยั้ง หรือปิดกั้นมันได้ มันคือพลังทางเศรษฐกิจที่เทียบเท่ากับพลังธรรมชาติ เหมือนอย่างน้ำ หรือลม” บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวขณะเยือนกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อปี 2000
“ผมได้ยินหลายคนพูดว่า เราต้องหยุดและถกเถียงเรื่อง ‘โลกาภิวัตน์’ .. คุณจะถกเถียงเรื่องนั้นก็เหมือนกับการถกเถียงว่า ‘ฤดูใบไม้ร่วงควรจะมาหลังฤดูร้อนหรือไม่’” (หมายถึง มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอน หลีกเลี่ยงไม่ได้) โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวในที่ประชุมพรรคแรงงาน ในปี 2005
จุดกำเนิด “โลกาภิวัฒน์”
ธีโอดอร์ เลวิตต์ (Theodore Levitt) นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์จาก Harvard Business School เป็นผู้เริ่มใช้คำว่า Globalization ในบทความ “The Globalization of Markets” หรือ โลกาภิวัฒน์แห่งตลาด ที่ได้รับการตีพิมพ์ใน Harvard Business Review ปี 1983
ในบทความนั้น เขาเขียนไว้ว่า โลกกำลังเคลื่อนตัวไปสู่ตลาดเดียว ที่ผู้บริโภคมีรสนิยมใกล้เคียงกันมากขึ้น และแบรนด์ต่าง ๆ ควรผลิตสินค้าแบบเป็นสแตนดาร์ท (standardized) มากกว่าปรับตามท้องถิ่น
จากนั้น คำนี้จึงกลายเป็นคำยอดฮิต ทั้งในวงธุรกิจ การตลาด เศรษฐศาสตร์ และการเมืองมาโดยตลอด
โลกศตวรรษที่ 21 มุ่งสู่ยุค Deglobalization
ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โลกถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิดว่า “ยิ่งเชื่อมต่อกันมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งพัฒนาไปได้ไกลเท่านั้น” ท่ามกลางแนวคิดที่ว่าเส้นแบ่งพรมแดนจะค่อย ๆ เลื่อนหายไป เมื่อมนุษย์เชื่อมโยงกันด้วยผลประโยชน์ร่วมกัน
แต่ในวันนี้ มันอาจกลายเป็นเพียงแค่ “คำฮิตในอดีต” ก็ได้ เพราะดูเหมือนหลายประเทศกำลังเดินหน้าไปสู่แนวทางตรงกันข้ามอย่างชัดเจน นั่นคือ Deglobalization
คำว่า Deglobalization ไม่ได้หมายความว่าโลกจะตัดขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่เปลี่ยนรูปแบบจากการเปิดกว้างแบบไร้ซึ่งขอบเขต กลายมาเป็นการติดต่อเชื่อมโยงแบบระแวดระวังกันมากขึ้น
โดยเฉพาะแนวคิด “America First” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำให้เรื่องนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้น กับความพยายามในการให้ย้ายฐานการผลิตกลับมาสู่อเมริกา เพื่อคนอเมริกัน.. ทำให้หลายประเทศก็เริ่มมีแนวคิดในการพึ่งพาตัวเองกันมากขึ้น โดยเฉพาะบทเรียนจากการระบาดของโควิด-19
โควิด-19 จุดเริ่มต้นของ Post-Globalization
การระบาดของโควิด-19 คือจุดเปลี่ยนที่เห็นได้ชัด เพราะทำให้หลายประเทศเล็งเห็นถึงความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน การผลิต และการขนส่งที่หยุดชะงักอย่างที่ไม่มีใครคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้
การถดถอยของการเชื่อมโยงของเศรษฐกิจโลกระหว่างการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้เหล่านักวางแผนนโยบาย และนักเศรษฐศาสตร์เริ่มตั้งคำถามถึงห่วงโซ่อุปทานที่ถูกยืดขยายจนเกินพอดี ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน และการขาดความร่วมมือระหว่างประเทศ นำมาสู่การตั้งคำถามว่า “ควรลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจหรือไม่?”
“ไวรัสโคโรนา จะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของโลกาภิวัฒน์ ที่อยู่กับเรามาตลอด 40 ปี.. มันชัดเจนแล้วว่า โลกาภิวัฒน์กำลังมาถึงจุดสิ้นสุดของวงจร” - เอ็มมานูเอ มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวหลังการระบาดของโควิด-19
“ทรัมป์” จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุดการค้าเสรี?
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบาย America First ตามต่อด้วยการประกาศนโยบายภาษีศุลกากรต่อหลายสิบประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ 125% ต่อประเทศจีน ส่วนหนึ่งเพื่อหวังให้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังสหรัฐฯ หวังเปลี่ยนสังคมที่เน้นการบริโภค มาเป็นประเทศที่เน้นการผลิตเองภายในประเทศ ที่ถูกมองว่าเป็นการ “เปลี่ยนทิศทาง” ครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ต่อระบบการค้าเสรีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
“โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว โลกาภิวัฒน์สิ้นสุดลงแล้ว และเรากำลังอยู่ในยุคใหม่” เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา
หลังจากนี้ต่อไป นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า จะกลายเป็นยุคที่หลายประเทศหันไปสร้าง “กลุ่มเศรษฐกิจ” ของตนแทน
พัสคาล ลามี (Pascal Lamy) อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก WTO บอกว่า แม้นโยบายของสหรัฐฯจะส่งผลกระทบจริง แต่อย่าลืมว่ามีอีก 87% ของการค้าโลกที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาษีชุดนี้ หากสหรัฐฯ ปิดประเทศ ประเทศอื่นอาจยิ่งเปิดมากขึ้น”
โลกไม่ได้ปิด เราไม่ได้แค่จะอยู่ลำพัง แต่โลกเลือกมากขึ้น
การถอยห่างจากโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน ไม่ได้หมายถึงการที่ทุกประเทศจะมาหันหลังให้กันอย่างสิ้นเชิง แต่มันจะกลายเป็นการเลือกจะเชื่อมแบบเฉพาะกลุ่ม หรือเครือข่ายที่ไว้ใจได้ ซึ่งหมายถึงการเลือกที่จะป้องกันตัว พร้อมกับการเปิดแค่บางส่วนเท่านั้น
ตอนนี้ จึงอาจเป็นยุคของ Post-Globalization หรือโลกหลังโลกาภิวัฒน์ ที่ไม่ได้พังทลายลง แต่เป็นการ “หาสมดุลใหม่” ระหว่างความรวดเร็วทางเศรษฐกิจ และข้อมูลข่าวสาร กับ ความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์
และโลกจะไม่ได้มีศูนย์กลางเพียงแห่งเดียวอีกต่อไป หากแต่จะเต็มไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์หลายขั้ว ที่ต่างยังคงแย่งชิงอิทธิลพลในเวทีการค้าโลก
บทความโดย: ภัทร จินตนะกุล