รีเซต

พนักงานบริการ สุดทน เลื่อนเปิดสถานบันเทิง ชวนส่งรองเท้าไปทำเนียบ ตบหน้ารัฐบาล

พนักงานบริการ สุดทน เลื่อนเปิดสถานบันเทิง ชวนส่งรองเท้าไปทำเนียบ ตบหน้ารัฐบาล
ข่าวสด
26 พฤศจิกายน 2564 ( 16:25 )
72

พนักงานบริการ สุดทนรัฐ เลื่อนเปิดสถานบันเทิงไปเรื่อย รณรงค์ส่งรองเท้าไปทำเนียบ ตบหน้ารัฐบาล ตัวแทนกลุ่มป้อง น้องโอลีฟ ชี้ทุกคนต้องเอาตัวรอด

 

วันที่ 26 พ.ย.64 พนักงานบริการ จ.เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง ,กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร ,อุดรธานี, มุกดาหาร ,พัทยา, ภูเก็ต, กระบี่ และ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ร่วมกันทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเพื่อขอให้เยียวยาพนักงานบริการหลังจากรัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบริการ

 

ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า กลุ่มพนักงานบริการที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมสิทธิของพนักงานบริการ สมาชิกในกลุ่ม คือ คนทำงานบริการในสถานบริการ บาร์ คาราโอเกะ อะโกโก้ อาบอบนวด นวดสปา และคนทำงานในพื้นที่อิสระ รวมไปถึงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ให้ได้รับสิทธิ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและตีตรา

 

แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ มกราคม ปี 2563 จนกระทั่งตอนนี้ เป็นเวลากว่า 23 เดือน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวลง ลูกจ้างถูกไล่ออก เกิดภาวะตกงานทั่วประเทศ

 

อีกทั้งการบริหารจัดการแก้ไขของรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน เรารักกันเราชนะ คนละครึ่ง หรือเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ซึ่งพบว่าเงินเยียวยาไม่เพียงพอ ไม่ทั่วถึงกับแรงงานในทุก ๆ กลุ่ม เช่น พนักงานบริการที่ไม่มีประกันสังคม กลุ่มแรงงานข้ามชาติและชาติพันธ์ โครงการเยียวยาต่าง ๆ ที่รัฐมีนั้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา อีกทั้งยังเลือกปฏิบัติไม่ทั่วทั้งประเทศ ไม่ได้ทุกกลุ่ม

 

ในจดหมายระบุว่า ผลกระทบที่เกิดกับพนักงานบริการและครอบครัวที่ต่อเนื่องยาวนาน คือ ตกงานไม่มีรายได้ จากการถูกสั่งปิดร้าน พนักงานบริการไม่มีประกันสังคมเข้าไม่ถึงเงินว่างงาน อีกทั้งรัฐมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการก่อนจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้เปิดแต่ไม่เยียวยา รัฐบาลไม่มีแนวทางช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างชัดเจน สภาพจิตใจย่ำแย่ เครียด

 

“สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนว่าจะได้กลับไปทำงานอีกเมื่อไร ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลสร้างผลกระทบทางจิตใจอย่างหนัก พนักงานบริการประสบปัญหาเงินเก็บหมดไป หนี้สินเพิ่มพูน ทางออกไม่มี ไม่ได้เงินเยียวยา เกิดผลกระทบหนักมากขึ้นต่อพนักงานบริการที่เป็นหลักครอบครัว เป็นแม่ หางานใหม่ไม่ได้เพราะภาคธุรกิจอื่น ๆ ก็ปิดตัวลง” จดหมายถึงรัฐบาลระบุ

 

ในจดหมายระบุด้วยว่าการแพร่ระบาด โควิด19 ระลอก 3 รัฐบาลมีคำสั่งให้ปิดสถานบริการ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2564 และเลื่อนเปิดสถานบริการจาก วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ออกไปเป็นวันที่ 16 มกราคม 2565 รัฐบาลมีคำสั่งเลื่อนเปิดมาแล้วถึง 4 ครั้ง เป็นระยะเวลายาวนานถึง 220 วันโดยรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาและไม่มีความชัดเจน ไม่มีการช่วยเหลือ มีแต่คำสั่งปิด และเลื่อนเวลาเปิดสถานบริการและไม่มีการช่วยเหลือพนักงานบริการ

 

เราได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 ไม่มีคำตอบ จนกระทั่งเราต้องไปเรียกร้องหน้าทำเนียบ วันที่ 29 มิถุนายน 2564 ได้รับคำตอบว่า รัฐบาลเยียวยาแล้วให้ร่วมโครงการที่รัฐบาลมี ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่ารัฐบาลไม่ได้ฟังเสียงผลกระทบของพนักงานบริการว่าเราเข้าถึง ไม่ทั่วถึงและเพียงพอ

 

ดังนั้น พนักงานบริการยังยืนยันข้อเรียกร้องเดียว คือ ให้รัฐดำเนินการเยียวยาพนักงานบริการเนื่องจากคำสั่งปิดสถานบริการตามมาตราการของภาครัฐ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ต่อเดือน ให้กับพนักงานบริการ และคนทำงานในสถานบริการ ทุกคนจนกว่าสถานบริการจะกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้ ทั้งนี้รวมไปถึงคนทำงานในสถานบริการที่มีการจ้างงานชั่วคราวหรือรายครั้งและครอบคลุมถึงคนทำงานที่เป็นชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ

 

“เพราะฉะนั้นในครั้งนี้เราพนักงานบริการจึงออกจดหมายเปิดผนึก โดยมีพนักงานบริการ ในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ นวดสปา และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ เรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงเรา เพื่อทวงถามให้รัฐบาลรักษาหน้าที่ เร่งดำเนินการเยียวยาให้กับพนักงานบริการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร่งด่วน”

 

ไหม จันตา ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานบริการ มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ กล่าวว่าพนักงานบริการจำนวนมากต้องกลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัด ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด บางคนทำงานออนไลน์ แต่ไม่มีใครอยากพูดเพราะกลัวตำรวจมักล่อซื้อ แต่สำหรับคนสูงอายุที่เคตยทำงานตามบาร์ พอปิดตัวก็ไปสมัครงานที่ไหนไม่ได้ ต้องอาศัยข้าวของหรืออาหารที่มีคนแจกมาเก็บตุนไว้เพื่ออยู่รอดไปวันๆ และพยายามใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ทุกคนหวังว่าวันที่ 1 ธันวาคมจะได้กลับเข้าไปทำงาน แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปอีก จนไม่มีใครเชื่อรัฐบาลอีกแล้ว

 

“เราอยากทำมากกว่าจดหมายเปิดผนึก จึงทำคลิปและชักชวนทุกคนร่วมกันส่งรองเท้าไปยังรัฐบาล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตบหน้า และอยากให้เห็นว่าพนักงานบริการไม่ยอมแล้ว”ไหม กล่าว

 

ไหม ยังได้แสดงความเห็นกรณีที่ น.ส.อรัญญา อภัยโส หรือ น้องโอลีฟ อายุ 23 ปี แม่ค้าขนมโตเกียวเนยกรอบ ถูกวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ตักเตือนเรื่องการแต่งกายวาบหวิว ว่าทุกคนมีสิทธิทำมาหากินและทุกคนต่างก็ต้องเอาตัวรอดในยุคปัจจุบันซึ่งการแต่งตัวในลักษณะดังกล่าวเป็นจุดขายของเขา แม้บางคนแค่มาดูและไม่ซื้อก็ตาม และในมุมมองศีลธรรมต้องก็ควรดูหลายแง่มุม

ทำไมพอดาราใส่โป๊ก็ยังสามารถทำมาหากินได้และไม่มีใครดา แต่พอคนหาเช้ากินค่ำทำบ้างกลับกลับกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำไปเชื่อมกับศีลธรรม ซึ่งเรื่องในลักษณะนี้พนักงานบริการเคยโดนมาแล้วเพราะการไม่แยกแยะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง