'ฝรั่งเศส' ประณามออสเตรเลีย-สหรัฐฯ ปมดอดซื้อ 'เรือดำน้ำ' ลับหลัง
ปารีส, 20 ก.ย. (ซินหัว) -- ฝรั่งเศสประณามออสเตรเลียและสหรัฐฯ กรณี "ละเมิดความไว้วางใจและดูหมิ่นเหยียดหยามครั้งใหญ่" ในข้อพิพาทเกี่ยวกับเรือดำน้ำ หลังจากมีมติเรียกตัวเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำออสเตรเลียและสหรัฐฯ กลับประเทศ
เมื่อวันเสาร์ (18 ก.ย.) ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีกระทรวงยุโรปและการต่างประเทศของฝรั่งเศส กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ฟรานซ์ 2 ว่าการเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯ และออสเตรเลียกลับประเทศครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสเป็นการแสดงออก "เชิงสัญลักษณ์" ซึ่งสะท้อน "วิกฤตร้ายแรงระหว่างกัน"
"มีการโกหก การตีสองหน้า ตลอดจนการละเมิดความไว้วางใจและการเหยียดหยามครั้งใหญ่" เลอ ดริยองกล่าว พร้อมเสริมว่าผลลัพธ์ที่ตามมาสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ภายในองค์กรนาโต (NATO) ได้
"นาโตริเริ่มการหารือแนวคิดขององค์กรฯ" เลอ ดริยองกล่าว "การประชุมสุดยอดนาโตครั้งต่อไปในมาดริดจะมุ่งเป้าไปที่แนวคิดเชิงกลยุทธ์รูปแบบใหม่ และแน่นอนว่าสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับคำนิยามนี้"
เลอ ดริยองระบุว่าฝรั่งเศสจะทำให้การพัฒนากลยุทธ์ด้านความมั่นคงของสหภาพยุโรป (EU) เป็นพันธกิจสำคัญลำดับแรกเมื่อรับตำแหน่งประธานอียูในช่วงต้นปี 2022
ทั้งนี้ ออสเตรเลียจะสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ด้วยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ภายใต้การเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงใหม่ระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่าออคัส (AUKUS) ซึ่งเปิดตัวเมื่อวันพุธ (15 ก.ย.)
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดี (16 ก.ย.) ออสเตรเลียประกาศแผนการยกเลิกข้อตกลงที่ลงนามกับฝรั่งเศสในปี 2016 เพื่อซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซล-ไฟฟ้าแบบทั่วไป 12 ลำ โดยเลอ ดริยองออกมาตอบโต้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็น "การแทงข้างหลัง"
อนึ่ง ฝรั่งเศสเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯ และออสเตรเลียกลับประเทศเมื่อวันศุกร์ (17 ก.ย.) โดยระบุว่าเป็นการดำเนินการที่มีความชอบธรรม