ไขมันแต่ละชนิดในร่างกายแตกต่างกันอย่างไร ?
ไขมัน นับเป็นแหล่งสะสมพลังงานที่สำคัญของร่างกาย โดยร่างกายประกอบด้วยไขมันหลายชนิด ได้แก่ ไขมันสีน้ำตาล ไขมันสีขาว ไขมันใต้ผิวหนัง และไขมันในช่องท้อง
ไขมันสีน้ำตาล (Brown Fat)
ไขมันชนิดนี้มีสีน้ำตาลอมแดง เนื่องจากมีไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานของเซลล์ ทำให้เกิดความร้อน ทารกจะมีไขมันสีน้ำตาลเยอะ เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่นหลังคลอดออกมา และจะมีไขมันชนิดนี้ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ไขมันสีน้ำตาลมักแทรกตามบริเวณที่มีไขมันสีขาวด้วย เช่น คอ อกส่วนบน และหัวไหล่ ทั้งนี้ ไขมันสีน้ำตาลยังเผาผลาญไขมันในเลือด ซึ่งเป็นไขมันที่เก็บแคลอรี่เอาไว้
ไขมันสีขาว (White Fat)
ไขมันชนิดนี้ทำหน้าที่เก็บสะสมพลังงานและผลิตฮอร์โมนที่ซึมเข้ากระแสเลือด โดยทั่วไปแล้ว เซลล์ไขมันขนาดเล็กจะผลิตฮอร์โมนอดิโพเนคทิน (Adiponectin) ซึ่งทำให้ตับและกล้ามเนื้อไวต่ออินซูลิน กระบวนการดังกล่าวจะช่วยให้ไม่ป่วยเป็นเบาหวานหรือโรคหัวใจได้ง่าย หากร่างกายสะสมไขมันจนอ้วน จะส่งผลให้ผลิตฮอร์โมนอดิโพเนคทินช้าลงหรือไม่ผลิตฮอร์โมนเลย ไขมันสีขาวจัดเป็นไขมันไม่ดี ส่งผลให้เกิดไขมันสะสมที่หน้าท้องและต้นขา
ไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat)
ไขมันชนิดนี้พบได้ที่ชั้นผิวหนัง หากมีไขมันใต้ผิวหนังสะสมที่ต้นขาหรือก้นอาจไม่อันตรายหรือก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเซลล์ไขมันใต้ผิวหนังสะสมอยู่ที่ท้องอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพได้ เนื่องจากปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าผู้ที่มีไขมันรอบสะดือที่เกิดจากไขมันในช่องท้องและไขมันใต้ผิวหนัง ต่างอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ไขมันใต้ผิวหนังสามารถวัดได้ โดยใช้เครื่องหนีบวัดไขมัน (Skin-Fold Calipers)
ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat)
ไขมันชนิดนี้จะสะสมอยู่ลึกกว่าชั้นผิวหนัง โดยอยู่ในช่องท้อง รอบอวัยวะภายในร่างกาย เช่น กระเพาะอาหาร ตับ หรือลำไส้เล็ก ไขมันชนิดนี้อยู่ใกล้ตับมาก ซึ่งตับอาจเปลี่ยนไขมันนี้เป็นคอเลสเตอรอล รวมทั้งอาจดูดซึมเข้ากระแสเลือดและสะสมตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดตีบ ไขมันช่องท้องก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ผู้ที่มีรอบเอวหรือหน้าท้องใหญ่มากถือว่ามีไขมันในช่องท้อง ทำให้เสี่ยงเป็นเบาหวาน โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ทั้งนี้ ไขมันในช่องท้องยังทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) โดยทำให้ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้ตามปกติ ซึ่งกระตุ้นให้เสี่ยงเป็นเบาหวานได้