รีเซต

สปสช.ตอบแล้ว! สาเหตุผู้ป่วยโควิดไม่สามารถติดต่อ 1330

สปสช.ตอบแล้ว! สาเหตุผู้ป่วยโควิดไม่สามารถติดต่อ 1330
NewsReporter
23 กุมภาพันธ์ 2565 ( 09:15 )
67
สปสช.ตอบแล้ว! สาเหตุผู้ป่วยโควิดไม่สามารถติดต่อ 1330

เลขาธิการสปสช.ตอบสาเหตุผู้ป่วยโควิดไม่สามาติดต่อสายด่วน 1330 เข้าระบบรักษา Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) เพราะวันเดียว(21 ก.พ.) สายติดต่อพุ่งถึง 4.9 หมื่นสาย มีคนโทรซ้ำทุก 2 ชั่วโมง เปิดช่องทางไลน์ติดต่ออีกทาง จะมีจนท.โทรกลับภายใน 6 ชม. หากเกินประสานผอ.เขตในกทม.ดำเนินการ ชี้ส่วนใหญ่ปัญหาความหนาแน่นอยู่พื้นที่กรุงเทพฯเป็นหลัก

 

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565  นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผู้ป่วยโควิดไม่สามารถติดต่อเข้าระบบการรักษาของผ่านสายด่วน 1330 ว่า การติดต่อเข้าระบบการดูแลที่บ้าน Home Isolation (HI) ผ่านสายด่วน 1330 จากข้อมูลเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา มีจำนวนสายติดต่อเข้ามาสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ คือ 49,005 สายในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าการระบาดรอบที่ผ่านมาที่โทรเข้ามากว่า 2 หมื่นสาย ดังนั้น หากติดต่อสายด่วน 1330 ไม่ได้ หรือรอสายนาน ยังมีอีกช่องทาง คือ แอดไลน์สปสช. ( @nhso ) เพิ่ม แล้วแจ้งข้อมูลในช่องทางดังกล่าว ซึ่งจะติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง โดยเวลา 6 ชั่วโมงมาจากหน่วยบริการที่จะรับเข้าระบบ เนื่องจากต้องรอให้ทางหน่วยบริการ คือ รพ.หรือคลินิก ประสานข้อมูลต่อและรับผู้ป่วยผ่านระบบ HI หรือ Community Isolation หรือ CI

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หากยังไม่ได้รับการติดต่อกลับไปก็แจ้งเข้ามาทางช่องทางไลน์ ทางนี้ได้ ซึ่งขณะนี้มีคนแอดไลน์มาแล้วกว่า 2 ล้านคน หรือหากเข้ารับบริการแล้ว แต่ไม่ได้รับการดูแลตามที่ตกลงกัน เช่น ยังไม่ได้อุปกรณ์จำเป็น หรืออาหารไม่ได้ตามที่ตกลง ก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวกที่สุด

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าเพราะอะไรถึงมีการโทรติดต่อเข้ามาในระบบ 1330 และชุมสายหนาแน่น ไม่สามารถเคลียร์ได้ทัน นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า ที่มีการโทรศัพท์เข้ามาสูงสุดของเมื่อวานนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ที่ยังไม่ได้เข้าระบบ ทุก 2 ชั่วโมงโทรกลับเข้ามา ซึ่งจากข้อมูล 1 คนโทรซ้ำประมาณ 4-5 ครั้ง หาก 1 พันคนโทร 5 ครั้ง ก็ไป 5 พันครั้ง ในสายทุกวินาทีมีการรอสายประมาณ 50 สายตลอดเวลา เพราะมีคนแย่งกันโทรเข้ามา โดยสายเข้ามีประมาณ 3 พันสาย คนรับประมาณ 300 ราย หากโทรมา 350 ราย ดังนั้น อีก 50 รายก็ต้องรอ ส่วน 300 คนกำลังคุยกันอยู่ ซึ่งใช้เวลาคุยวางสายไม่เท่ากัน พอวางสายก็จะดึงเอาคนที่รออยู่เข้าไป บางครั้งไม่รอก็วางเลย แล้วโทรใหม่ เราเห็นว่าเป็นระบบที่เราเชื่อว่าไม่มีประสิทธิภาพ จึงอยากให้ติดต่อผ่านไลน์ ซึ่งสามารถติดต่อเจ้าหน้าทีได้เลย

 

เมื่อถามว่าเมื่อแอดไลน์แล้วต้องรอ 6 ชั่วโมงจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ แต่ความเป็นจริงมีรอนานเกิน 6 ชั่วโมง นพ.จเด็จ กล่าวว่า กรณีที่เกิน 6 ชั่วโมงจะมีการรายงานไปที่ผุ้อำนวยการเขตกทม. เพราะตอนนี้ปัญหาส่วนใหญ่อยู่กทม. ซึ่งคนที่นานกว่า 6 ชั่วโมงมีประมาณ 1.2 พันรายทั่วประเทศ

 

เมื่อถามว่าขณะนี้มีประชาชนร้องเรียนมาว่าแจ้ง 1330 แล้วแต่ไม่มีเจ้าหน้านี้โทรกลับ บางพื้นที่ให้ประชาชนไปซื้อยากินเอง นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.มีหน้าที่ผูกหน่วยบริการ ดังนั้นผู้โทรกลับจะเป็นหน่วยบริการ หากเป็นกทม. จะมีทางเขตเป็นผู้ดูแล ย้ำว่าหากโทรไปแล้วไม่ถูกต้อง กรุณาแอดไลน์ สปสช.เข้ามา

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าการให้ประชาชนรักษา HI เป็นหลัก แต่ไม่เคยถามความสมัครใจ หรือความพร้อมของประชาชนว่าสามารถอยู่ในระบบ HI ได้หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขอย้ำว่า 1330 เราจะมีการสอบถามความสมัครใจ จะไม่มีการบังคับผู้ป่วยว่าต้องเข้า HI เท่านั้น เพราะการคุยทางโทรศัพท์เราไม่มีวันรู้อาการแท้จริง เป็นเพียงข้อแนะนำและผูกกับหน่วยบริการให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ หากเข้าระบบ HI ไม่ได้ ก็จะมีศูนย์ชุมชน หรือ CI และยังมีฮอสพิเทล กรณีบ้านท่านไม่พร้อม หรืออยู่ชุมชนไม่ได้ แต่จริงๆ ระบบการดูแลเหมือนกันหมด

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าช่วงที่ผู้ป่วยปฏิเสธ HI แล้วไปตรวจ RT-PCR และต้องรอผล ระหว่างที่รอผล เขาจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ต้องไปอยู่ข้างถนนได้อย่างไร จะต้องเข้า CI หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขอแนะนำให้เข้าระบบ ของเราก่อนเลย ส่วนจะเข้าโรงแรม หรือโรงพยาบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

เมื่อถามย้ำถึงเหตุผลที่คนปฏิเสธ HI เพราะไม่พร้อมจะอยู่บ้าน แต่ทำไมถึงต้องปฏิเสธระบบ CI ด้วย แต่กลับยืนยันจะเข้าฮอสพิเทลอย่างเดียว นพ.จเด็จ กล่าว คงมีเหตุผลหลายอย่าง อาจจะเป็นค่านิยม หรือการรับข้อมูลข่าวสารจากคนใกล้ชิด หรืออาจจะมีเจตนาส่วนอื่น และจากที่ทราบและสอบถามก็มีเรื่องของการเคลมประกันด้วย อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าท่านอาจจะมีเหตุผลของท่า แต่ระหว่างรออยากให้เข้าสู่ระบบ HI หรือ CI ก่อน จะทำให้ระบบไม่เกิดความวุ่นวายมาก

 

“จริงๆ จิตอาสาต่างๆ ที่ไปพบผู้ป่วยตามที่ต่างๆ เพื่อนำเข้าสู่ระบบนั้น สปสช. เคยมีการหารือ และให้เบอร์พิเศษสำหรับจิตอาสาส่งเคสเข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา มีจิตอาสาส่งเคสเข้ามาให้เราตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. หลายพันราย เราก็ดำเนินการให้ ดังนั้นจิตอาสาถ้าท่านเจอผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหา กรุณาโทรหาเราที่เบอร์โทรพิเศษที่ให้ไป หรือเข้ากลุ่มไลน์พิเศษของจิตอาสาแล้วส่งข้อมูลมาให้เรา ซึ่งตอนนี้ยังทำงานกันอยู่ เป็นระบบพิเศษเพื่อเปิดมาร่วมกันเก็บคนตกหล่น เพราะจิตอาสาเป็นหน่วยที่ลงพื้นที่ได้เร็วกว่า” นพ.จเด็จกล่าว

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง