รีเซต

'จุรินทร์' สั่งคกก.พัฒนาเด็ก ติดตามภัยใกล้ตัวเยาวชน โรคซึมเศร้า-ติดเกม-บูลลี่

'จุรินทร์' สั่งคกก.พัฒนาเด็ก ติดตามภัยใกล้ตัวเยาวชน โรคซึมเศร้า-ติดเกม-บูลลี่
มติชน
31 กรกฎาคม 2564 ( 09:56 )
60

 

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (30 กรกฎาคม) มีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอของสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ และของสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ประจำปี 2563 ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความสนใจในการรับราชการ การพัฒนาตลาดสินค้าออนไลน์เพื่อผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ การสร้างโอกาสทางอาชีพให้กลุ่มเปราะบาง การปรับหลักสูตรเพศศึกษา กฎ ระเบียบในสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความหลากหลาย และการเปลี่ยนแปลงของสังคม พิจารณาให้สิทธิเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงการกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อการศึกษา เปิดโอกาสให้นักเรียนนอกระบบสามารถใช้ประสบการณ์การทำงานเทียบเท่าเป็นหน่วยกิตบางวิชาในสถานศึกษา เป็นต้น

 

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบการรายงานสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน จากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งพบแนวโน้ม และปัญหา อาทิ เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่มากขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ทำงานอยู่คนละจังหวัดจึงต้องให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย ภาวะโรคอ้วน เด็กรู้ไม่เท่าทันสื่อออนไลน์ ติดเกมส์ ติดพนัน โรคซึมเศร้าในกลุ่มเยาวชนอายุ18-25 ปี และล่าสุดข้อมูลของไตรมาสแรกปีนี้ รายงานว่า เด็กไทยถูกจัดเป็นอันดับสองของโลกรองจากญี่ปุ่น กว่า 91% เคยถูกกลั่นแกล้งรังแก ด้วยการตบหัว ล้อชื่อพ่อแม่ โดนดูถูก พูดจาเหยียบหยาม

 

 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า คณะกรรมการได้ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งหลายเรื่องจะสำเร็จได้ต้องสร้างความตระหนักในสังคมและครอบครัวถึงภัยใกล้ตัวและแนวทางที่ถูกต้องในการดูแลเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกัน เพื่อให้ให้การขับเคลื่อนงานด้านนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม มุ่งเป้าสร้างคนรุ่นใหม่เป็นคนดีมีคุณภาพ นายจุรินทร์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอของสมัชชาเด็กและเยาวชน และให้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการและการแก้ปัญหาต่อคณะกรรมการทราบทุก 3 เดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง