รีเซต

KTCบิ๊กล็อต 8 พันล้าน ลือ”มงคล”กำเงินลุยXPG

KTCบิ๊กล็อต 8 พันล้าน ลือ”มงคล”กำเงินลุยXPG
ทันหุ้น
28 พฤษภาคม 2564 ( 08:00 )
177

 

ทันหุ้น – KTC เจอบิ๊กล็อตชุดใหญ่ 8 พันล้านบาท ราคาต่ำกว่ากระดาน ที่ 74.75 บาท วิเคราะห์ “มงคล ประกิตชัยวัฒนา” ขายนำเงินลุยโบรกดิจิทัล XPG เหตุมั่นใจ “ระเฑียร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่นั่งหัวเรือ ด้าน KTC แนะมองผู้ซื้อเห็นศักยภาพทำกำไรระยะยาว โควิดกระทบไม่มาก นักวิเคราะห์ชี้ได้พอร์ตลูกค้า "ซิตี้แบงก์" เป็นบวก คาดQ2 กำไร 1.7 พันล้านบาท

 

วานนี้มีรายการขาย Big lot หุ้นบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC จำนวน 110 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ยหุ้นละ 74.75 บาท รวมมูลค่า 8,222 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อขายราคาที่ต่ำกว่าราคาปิดก่อนหน้าในระดับ 83 บาทพอสมควร โดยเป็นการซื้อขายในกระดานต่างประเทศ (KTC-F) มูลค่า 5,681 ล้านบาท และ KTC กระดานปกติ มูลค่า 2,541 ล้านบาท ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ได้มีการรายงานว่า มอแกนสแตนเลย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 4 ของ KTC เป็นโบรกเกอร์ที่รับทำดีลรายการดังกล่าว

ทั้งนี้การซื้อขายดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางข่าวที่ KTC สนใจพอร์ตของ ซิตี้แบงก์ มูลค่า 9.5 หมื่นล้านบาท และผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น

 

นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวถึงกรณีที่มีรายการขาย Big lot หุ้น KTC ว่า เป็นการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้คาดว่าผู้ที่จะพิจารณาขายหุ้นออกจากพอร์ต ก็น่าจะพิจารณาขายในจุดที่มีกำไร ส่วนผู้ที่ตัดสินใจซื้อหุ้น ก็น่าจะมีความมั่นใจในศักยภาพพื้นฐานของบริษัทที่จะเข้าลงทุน

 

สำหรับ KTC หลังจากการควบรวมกิจการของ KTB ลิสซิ่งเข้ามา ส่งผลให้ณ ปัจจุบัน บริษัทมีไลน์เซ่นประกอบกิจการสินเชื่อที่ครอบคลุมทั้งสินเชื่อมีหลักประกัน และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ประกอบกับกลุ่มบริษัทมีศักยภาพในการติดตามหนี้ จะเป็นฐานสำคัญที่จะออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า รวมถึงสามารถขยายฐานสินเชื่อเข้าสู่กลุ่มสินเชื่อมีหลักประกันได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

“มองว่าผู้ที่ตัดสินใจขาย คงขาย ณ จุดที่มีกำไรแล้ว ส่วนคนที่ตัดสินใจซื้อต้องมีความมั่นใจว่าบริษัทมีศักยภาพที่จะขยายตัวในอนาคต สำหรับบริษัท ถือว่ามีความพร้อมในการดำเนินกิจการ เพราะ ณ ปัจจุบันบริษัทมีไลน์เซ่นในการดำเนินธุรกิจทั้งสินเชื่อมีหลักประกัน และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เพิ่มความสามารถในการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ และคลอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม และสามารถตอบสนองความต้องการชองลูกค้าได้ทุกกลุ่ม”

 

โดย ณ ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้ากว่า 8 หมื่นราย มีลูกค้าที่ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพียง 1 หมื่นรายคิดเป็นวงเงินประมาณ 1.2 พันล้านบาทเท่านั้น

 

@ ได้พอร์ตซิตี้แบงก์จะดี

 

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกรณี ที่ KTC แสดงความสนใจเข้าซื้อพอร์ตลูกค้าของ "ซิตี้แบงก์" เนื่องจากหาก KTC สามารถรวมพอร์ตลูกค้าของ "ซิตี้แบงก์" เข้ามาได้ในราคาที่ “เหมาะสม” ตามที่ผู้บริหารระบุในช่วงประชุมนักวิเคราะห์ จะถือเป็นการขยายตัวครั้งใหม่ของ KTC หลังจากที่ได้ควบรวมลูกค้า KTB ลิซซิ่งเข้ามาในปี 2564

 

“หาก KTC ได้ลูกค้าของ "ซิตี้แบงก์" มาก็ถือเป็นปัจจัยบวกต่อ KTC เพราะกลุ่มลูกค้ามีคุณภาพในการจับจ่ายสูง รวมถึงมีศักยภาพในการผ่อนชำระสูง ดังนั้นผู้ถือหุ้นไม่น่าจะต้องกังวลกับประเด็นดังกล่าว”

 

สำหรับผลการดำเนินงาน ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินว่า KTC ยังคงมีศักยภาพในการทำกำไรต่อเนื่องจากการติดตามทวงถามหนี้ รวมถึงการคงตั้งสำรองในระดับสูงแต่ไม่สูงเท่ากับปี 2563 ที่ผ่านมาคาดว่าจะสามารถทดแทนรายได้จากยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตที่ปรับลดลงได้

 

@ ฐานยังแกร่ง

 

นางสาวยุวนาถ สุวรรณอำไพ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ผู้ขาย Big lot หุ้น KTC 2 รายการดังกล่าว น่าจะเป็นผู้ถือหุ้นในประเทศมากกว่าบริษัทในต่างประเทศ พร้อมคาดการณ์ว่าไม่น่าจะเกิดจากประเด็นที่ทาง KTC สนใจเข้าซื้อพอร์ตลูกค้าของ "ซิตี้แบงก์" แต่อย่างใด

“คาดว่าผู้ขายอาจต้องการนำเงินไปลงทุนในบริษัทแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างเร่งเพิ่มทุนมากกว่า เพราะหาก KTC ได้ลูกค้า "ซิตี้แบงก์" มาก็ถือเป็นปัจจัยหนุนในระยะยาวมากกว่า”

 

ขณะเดียวกัน KTC มีการดำเนินงานในลักษณะ conservative คือมีการตั้งสำรองในอัตราสูงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานะค่อนข้างแข็งแกร่ง ประกอบกับมีศักยภาพในการติดตามทวงถาม จัดเก็บรายได้มาโดยตลอด และหากรวมฐานลูกค้าที่มีการปรับโครงสร้างของ KTB ลิสซิ่งเข้ามาแล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้ KTC ได้เฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อปี ฝ่ายวิเคราะห์คาดกำไรสุทธิทั้งปี 2564 ของ KTC ที่ราว 6400-6500 ล้านบาท จากการจัดเก็บรายได้ติดตามทวงถาม และการตั้งสำรองทั้งปี 2564 ที่ลดลง

 

@ คาด มงคล ขายลุย XPG

 

แหล่งข่าวในวงการตลาดทุน วิเคราะห์ว่า ผู้ที่ขายน่าจะเป็น นาย มงคล ประกิตชัยวัฒนา เนื่องจากต้องการที่จะนำเงินไปลงทุนใน บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG ซึ่งมีไลเวนต์ในการดำเนินงานสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมี นาย ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ XPG ด้วย

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง