รีเซต

เขาวงพระจันทร์ 2566 พิชิตบันได 3,790 ขั้น มีงานประจำปีวันไหน?

เขาวงพระจันทร์ 2566 พิชิตบันได 3,790 ขั้น มีงานประจำปีวันไหน?
TNN ช่อง16
5 มกราคม 2566 ( 11:56 )
285
เขาวงพระจันทร์ 2566 พิชิตบันได 3,790 ขั้น มีงานประจำปีวันไหน?

เปิดกำหนดการเที่ยวงานประจำปี "เขาวงพระจันทร์ 2566" พิชิตบันได 3,790 ขั้น สักการะรอยพระพุทธบาทและหลวงพ่อพุทธโชค 


ใกล้เข้ามาแล้วกับเทศกาลเที่ยว "งานประจำปีเขาวงพระจันทร์" ที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทและหลวงพ่อพุทธโชค ที่วัดเขาวงพระจันทร์ 


โดยเพจเฟซบุ๊ก วัดเขาวงพระจันทร์ - KhaowongPhrachan Temple ได้แจ้งกำหนดการดังนี้ "ใกล้ถึงเทศกาลเที่ยวงานวัดเขาวงพระจันทร์แล้วขอเชิญชวนสาธุชนร่วมงานประจำปีนมัสการสักการะรอยพระพุทธบาทเขาวงพระจันทร์  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 มกราคม - 5 กุมภาพันธ์ 2566  รวม 15 วัน 15 คืน ณ วัดเขาวงพระจันทร์ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี"


ประวัติ วัดเขาวงพระจันทร์

วัดเขาวงพระจันทร์ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองลพบุรีประมาณ 28 กม. ตามเส้นทางถนนพหลโยธิน ตรงหลักกม.ที่ 178 มีทางแยกเลี้ยวขวาอีก 5 กม. ตั้งอยู่ในเขตตำบลห้วยโป่งอำเภอโคกสำโรงบริเวณเชิงเขาจะเป็นที่ตั้งของวัดเขาวงพระจันทร์ จะมีทางบันไดไปสู่ยอดเขาประมาณ 3,790 ขั้นยอดเขานี้สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 เมตร ถ้าวัดจากเชิงเขาถึงยอดเขาโดยแนวบันไดจะยาว 1,680 เมตร ใช้เวลาเดินทางจากเชิงเขาถึงยอดเขาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สองข้างทางจะเต็มไปด้วยป่าไม้ขึ้นสลับซับซ้อนเต็มไปหมด บางแห่งจะเป็นที่ลาด บางแห่งจะเป็นที่ชัน เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาวงพระจันทร์จะมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้ไกลสุดสายตา สถานที่นี้เป็นแหล่งสะสมวัตถุโบราณ ของหายากมากมาย และพระพิมพ์ต่างๆมากมาย เพราะ หลวงปู่ฟัก อดีตเจ้าอาวาสท่านเป็นนักสะสมพระเครื่องมาก่อนที่ท่านจะบวช ซึ่งมีการจัดเป็นพิพิธภัณฑ์


พระพุทธโชค

พระพุทธโชค หรือ พระเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดลพบุรี และใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศไทย (รองจากพระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ) พระพุทธโชคประดิษฐานอยู่บริเวณริมเชิงเขาวงพระจันทร์ โดยแรกเริ่มโครงการก่อสร้างจะใช้ชื่อว่า "พระเชียงแสน" องค์พระก่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดหน้าตักกว้าง 45 เมตร สูง 75 เมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างองค์พระ 8 ปี (โดยประมาณ)

ในปัจจุบันพระเชียงแสนได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 และมีการจัดพิธีถวายพระนามใหม่ว่า "พระพุทธโชค" เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561 และมีพิธีสมโภชพระพุทธโชค เมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2561 โดยสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยกรรมการมหาเถรสมาคมรูปอื่น ตลอดจนพระมหาเถระที่มีชื่อเสียงร่วมประกอบพิธีอีกเป็นจำนวนมาก

ในส่วนบริเวณพื้นที่รอบๆองค์พระพุทธโชค ด้านหน้าเป็นลานกว้างประกอบไปด้วย บันไดขึ้นสู่องค์พระ, ศาลาธรรมขนาดใหญ่ จำนวน 2 หลัง, จุดชมวิว, อนุสรณ์หนุมาน ฯลฯ ด้านหลังเป็นพื้นที่จอดรถ, บันไดขึ้นสู่ด้านหลังองค์พระ และยังมีพื้นที่ในบางจุดยังอยู่ในระหว่างก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ


ตำนานเขาวงพระจันทร์

ท้าวกกขนาก ยักษ์ตนสุดท้ายที่ไม่ยอมแพ้พระราม ตามตำนานเรื่องรามเกียรติ์ จึงถูกพระรามแผลงศร โดนยักษ์กระเด็นลอยละลิ่วข้ามมหาสมุทรอินเดียมาตกที่ยอดเขาลูกนี้แล้วพระรามก็สาบให้ศรปักอกเอาไว้หากวันใดที่ศรเขยื้อนจะให้หนุมานลูกพระพาย(ลูกลม ถ้าตายเมื่อต้องลมพัดผ่าน จะกลับฟื้นคืนชีพ หนุมานจึงไม่รู้จักตาย) เอาฆ้อนมาตอกย้ำลูกศร ให้ปักอกไว้เช่นเดิม แต่ยักษ์โดนเข้าขนาดนี้ก็ยังไม่ตายนอนรอความตาย 

ฝ่ายนางนงประจันทร์ลูกสาวท้าวกกขนากก็เหาะตามมาเพื่อปรนนิบัติดูแลพ่อ เพราะพ่อยังไม่ตาย ท้าวกกขนากได้แต่นอนแอ้งแม้งอยู่ในถ้ำยอดเขานางพระจันทร์นี้และต่อมาเมื่อนางทราบว่าหากได้น้ำส้มสายชูมารดที่โคนศรแล้วศรจะเขยื้อนหลุดออกมาได้ 

แต่หากศรเขยื้อน ไก่แก้วก็จะขันเรียกหนุมานเอาฆ้อนมาตอกศร จึงเป็นเหตุผลให้เมืองลพบุรีไม่มีน้ำส้มสายชูขายมานาน จากตำนานนี้จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า เขานงประจันต์หรือนางพระจันทร์ 

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2496 หลวงพ่อโอภาสี ได้ขึ้นมาบนเขานี้ และเห็นว่าบริเวณเขาทั้ง4 ด้าน เป็นรูปเขาโค้ง มองทางไหนก็เห็นเป็นวงโอบล้อมอยู่ จึงขนานนามว่า เขาวงพระจันทร์ นับตั้งแต่นั้นมา


สิ่งมหัศจรรย์ 9 อย่าง

-มีรอยพระพุทธบาทแท้ (รอยพระบาทที่ 4)

-มีรอยเขี้ยวแก้วพระพุทธเจ้าแท้

-หลวงปู่ฟัก อายุ 93 ปี อดีตเจ้าอาวาส ฉันมังสะวิรัติตลอดชีวิต,ไม่สรงน้ำ(อาบน้ำ)ตลอดชีวิต

-มีพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเองจำนวนมาก

-มีพิพิธภัณฑ์ พ้นล้าน

-มีบันไดขึ้นเขา 3,790 ขั้น

-มีต้นปลัดขิก ธรรมชาติ

-มีควาย 3 เขา แห่งเดียวในโลก

-มีงาช้างสีดำ แห่งเดียวในโลก






ที่มา วัดเขาวงพระจันทร์ - KhaowongPhrachan Temple, วิกิพีเดีย

ภาพจาก TNN Online

ข่าวที่เกี่ยวข้อง