ขาดทุนหนัก! "Nissan" จ่อปิด 7 โรงงาน ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ l การตลาดเงินล้าน

สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานจากแหล่งข่าววงในระบุว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด อาจพิจารณาปิดโรงงานประกอบรถยนต์ 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงโรงงานในต่างประเทศบางส่วน เช่น เม็กซิโก แอฟริกาใต้ อินเดีย และอาร์เจนตินา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดต้นทุนทั่วโลกที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
หนึ่งในโรงงานที่อาจได้รับผลกระทบคือโรงงานโอปปามะ (Oppama) ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกที่นิสสันเริ่มสายการผลิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 และโรงงานโชนัน (Shonan) ของบริษัทในเครือ Nissan Shatai ซึ่งนิสสันถือหุ้นอยู่ร้อยละ 50 หากมีการปิดโรงงานทั้งสองแห่งจริง จะทำให้นิสสันเหลือโรงงานประกอบรถยนต์เพียง 3 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ โรงงานโทจิงิ (Tochigi), โรงงานนิสสันมอเตอร์คิวชู และโรงงานนิสสันชาไตคิวชูในจังหวัดฟุกุโอกะ
ส่วนต่างประเทศ หนึ่งในแหล่งข่าวระบุว่า นิสสันกำลังพิจารณายุติการผลิตในโรงงานที่แอฟริกาใต้ อินเดีย และอาร์เจนตินา พร้อมลดจำนวนโรงงานในเม็กซิโกจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า รายงานเกี่ยวกับการปิดโรงงานดังกล่าวเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น
นิสสัน ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทว่า ในขณะนี้ บริษัทจะยังไม่มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ และจะดำเนินการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างโปร่งใสหากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น
แผนการปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนทิศทางอย่างชัดเจนภายใต้การนำของซีอีโอคนใหม่ "อีวาน เอสปิโนซา" ซึ่งมีนโยบายที่แตกต่างจากอดีตซีอีโอ มร.มากาโตะ อูจิดะ ที่มุ่งขยายกำลังการผลิตทั่วโลกและเคยปฏิเสธแนวคิดการปิดโรงงานในประเทศญี่ปุ่น
ยอดขายทั่วโลกของนิสสันในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านคัน ลดลงถึงร้อยละ 42 จากปี 2560 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทต้องทบทวนกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าลดจำนวนพนักงานทั่วโลกราวร้อยละ 15 และลดจำนวนโรงงานผลิตจาก 17 แห่ง เหลือเพียง 10 แห่งทั่วโลก
ในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นิสสันยังย้ำว่า บริษัทได้วางแผนรวมสายการผลิตรถกระบะรุ่น Frontier และ Navara จากเม็กซิโกและอาร์เจนตินาเข้าสู่ศูนย์การผลิตแห่งเดียวที่โรงงานซิแวค (Civac) ในเม็กซิโก พร้อมกับประกาศเมื่อต้นเดือนมีนาคมว่า พันธมิตรในเครือ Renault จะซื้อหุ้นของนิสสันในกิจการร่วมทุนที่ประเทศอินเดีย
หากการปิดโรงงานในญี่ปุ่นเกิดขึ้นจริง จะนับเป็นครั้งแรกของนิสสันในรอบกว่า 20 ปี นับตั้งแต่การปิดโรงงานมูรายามะในปี 2544
สำหรับโรงงานโอปปามะนั้น มีขีดความสามารถในการผลิตราว 240,000 คันต่อปี และมีพนักงานประมาณ 3,900 คน ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยโรงงานแห่งนี้เคยเป็นที่ผลิต Nissan Leaf ซึ่งถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รายแรกของโลก
ส่วนโรงงานโชนันซึ่งผลิตรถตู้พาณิชย์ มีขีดความสามารถการผลิตประมาณ 150,000 คันต่อปี และมีพนักงานประมาณ 1,200 คน
การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง การเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และภาวะตลาดที่ไม่แน่นอนในหลายประเทศ