รีเซต

แพทย์ผิวหนังเตือน! แผลที่คล้ายแมลงกัด อาจเป็นการติดเชื้อวัณโรคที่ผิวหนังได้

แพทย์ผิวหนังเตือน! แผลที่คล้ายแมลงกัด อาจเป็นการติดเชื้อวัณโรคที่ผิวหนังได้
TNN ช่อง16
2 มีนาคม 2564 ( 01:48 )
2.5K

นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า  จากกรณีที่บนโลกออนไลน์มีการแชร์เตือนโรคแผลกินเนื้อ หรือโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน แพร่ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ชายทะเลของรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โรคดังกล่าวน่าจะแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องเข้าสู่เมืองเมลเบิร์นเร็วๆ นี้นั้น  ขอเรียนว่า โรค Buruli  หรือ Bairnsdale ulcer ที่มีข่าวพบในพื้นที่ชายทะเลของรัฐวิกตอเรีย  ประเทศออสเตรเลีย เป็นการติดเชื้อวัณโรคที่ผิวหนังที่ทำให้เกิดเป็นแผล  การติดเชื้อพบในหนองน้ำ  แอ่งน้ำ หรือ ผู้ป่วยสัมผัสกับน้ำในแอ่งน้ำที่มีเชื้ออยู่  เชื้อที่เป็นสาเหตุ  คือ เชื้อวัณโรคที่มีชื่อว่า Mycobacterium  ulcerans ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Buruli  ulcer disease ส่วนมากมักพบบ่อยในเด็ก และวัยหนุ่มสาว  พบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยพบเป็นก้อนที่ใต้ผิวหนัง  ทำให้เข้าใจว่าเป็นตุ่มที่เกิดจากแมลงกัดได้  


แพทย์หญิงมิ่งขวัญ  วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง  กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตุ่มบนผิวหนังค่อยๆ ขยายออกและอาจแตกออกเป็นแผล  ขนาดของแผลอาจเซาะลึกลงไปถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง  มีเนื้อตายได้  ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเจ็บที่แผล  รู้สึกสบายดี  เนื่องจากเส้นประสาทที่บริเวณบาดแผลถูกทำลายโดยพิษจากเชื้อที่เรียกว่า Mycolactone บาดแผลอาจเกิดที่ส่วนใดของร่างกายก็ได้ แต่มักพบในส่วนของแขน ขามากกว่า  ในผู้ใหญ่ แผลอาจมีขนาดใหญ่ และอาจขยายลามเป็นทั้งขาได้  แผลอาจเป็นอยู่ได้นานเป็นหลายเดือนหรือหลายปีได้  โดยอาจมีการหาย หรือเป็นใหม่ได้ในคนๆ เดียวกัน อาจหายโดยมีแผลเป็นหรือ อาจส่งผลให้มีอาการขาบวมจากการที่มีแผลเป็น และการไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองที่ไม่ดี  จะไม่พบอาการข้างเคียงของต่อมน้ำเหลืองโต  หรืออาการข้างเคียงทางร่างกายอื่นๆ ที่พบร่วมกัน  จนกว่าจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มเติมเข้าไปในผู้ป่วย  การวินิจฉัยแยกโรค ในระยะแรกที่เป็นก้อนใต้ผิวหนังต้องแยกกับกลุ่มที่มีสิ่งแปลกปลอมทิ่มแทงเข้าไปในผิวหนัง (Foreign body granuloma) แมลงกัด (Insect bite reaction) การติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นลึก ซีสต์ใต้ผิวหนัง (Infected sebaceous cyst) ไขมันใต้ผิวหนังอักเสบ (Panniculitis) ในระยะที่เป็นแผลต้องแยกโรคกับโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ โรคเนื้อเน่า (necrotizing faciitis)


ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่มีอาการควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และควรได้รับการเพาะเชื้อจากบาดแผล เพื่อให้ทราบถึงเชื้อที่เป็นสาเหตุ และเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาควบคู่ไปกับการได้รับการดูแลแผลที่ถูกวิธี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง