รีเซต

ผู้นำอาเซียนรุกหนักเจรจา-ยื่นข้อเสนอ "ทรัมป์" ขึ้นภาษีตอบโต้ แล้วไทยทำอะไร ก่อนเน้นตาย 9 เม.ย.

ผู้นำอาเซียนรุกหนักเจรจา-ยื่นข้อเสนอ "ทรัมป์" ขึ้นภาษีตอบโต้ แล้วไทยทำอะไร ก่อนเน้นตาย 9 เม.ย.
TNN ช่อง16
6 เมษายน 2568 ( 14:02 )
20

ผ่านไปไม่กี่วัน นับแต่วันที่ 2 เมษายนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศภาษีตอบโต้ หรือภาษีต่างตอบแทน 10-49% กับนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งเขตเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจอโจทย์หนักสุด เพราะถูกกำหนดอัตราภาษีค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว และเมียนมา

บางประเทศขยับตัวเร็ว เร่งติดต่อเข้าเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมเสนอเงื่อนไขการลดภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันของตนเอง เพื่อหวังว่า จะเลี่ยง หรือลดอัตราภาษี ที่จะบังคับใช้ 9 เมษายนนี้

แม้แต่ประเทศที่เจอภาษีต่ำสุดเอง ก็ตื่นตัวเตรียมมาตรการรับมืออนาคตที่ไม่แน่นอนของยุคทรัมป์ด้วย

ประเทศไหนทำอะไรไปแล้วบ้าง ประเทศไทยทำอะไรอยู่ มาดูกัน

3 เมษายน

นายกรัฐมนตรีฟาม มิน ชินห์ ของเวียดนาม จัดประชุมคณะรัฐมนตรีเร่งด่วน 

ผู้นำเวียดนามกล่าวว่าภาษี 46% ที่เวียดนามโดนเก็บ ไม่ได้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้นระหว่าง 2 ประเทศ เขากล่าวด้วยว่าเวียดนามจะยังคงเป้าหมายในการเติบโตของ GDP ที่ 8 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าภาษีของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อประเทศ

4 เมษายน

โต แลม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เข้าเจรจากับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

“เวียดนามอยากลดภาษีสินค้าอเมริกาเหลือศูนย์ หากทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ได้ (เพื่อเลี่ยงภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ)” ทรัมป์ กล่าวถึงคำพูดของ โต แลม ที่ได้พูดคุย

5 เมษายน

ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ชี้ “สงครามการค้าโลกได้ก่อตัว ยุคของการค้าเสรีจบสิ้นแล้ว แม้ว่าสิงคโปร์ได้รับอัตราภาษีขั้นต่ำที่สุด แต่เราตื่นตัวกับผลกระทบในภายหน้าเสมอ”

แม้สิงคโปร์จะเจอกำแพงภาษีที่ต่ำที่สุดก็ตาม หว่องยอมรับว่าผลกระทบโดยตรงอาจมีจำกัดในขณะนี้ แต่ผลกระทบในวงกว้างนั้นน่ากังวลยิ่งกว่ามาก 

นอกจากนี้ หว่องยังเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด “สงครามการค้าโลก” เนื่องจากหลายประเทศอาจใช้มาตรการตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่รุนแรง แม้ว่าสิงคโปร์จะตัดสินใจไม่ใช้มาตรการตอบโต้ก็ตาม โดยที่โลกในตอนนี้กำลังจะเปลี่ยนไปในทางที่เป็นผลเสียต่อกับชาติเล็ก ๆ อย่างเช่นสิงคโปร์

วันเดียวกัน ฮุน มาเน็ต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ชี้ “ขอให้สหรัฐฯ เลื่อนการดำเนินมาตรการภาษี เปิดทางเจรจาต่อรองถึงภาษีต่อกัมพูชา 49% สูงสุดในอาเซียน กัมพูชายินดีลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ 19 ประเภท จาก 35% เหลือ 5%”

ฮุน มาเน็ต ยังมอบหมายรัฐมนตรีพาณิชย์กัมพูชา เป็นตัวแทนเจรจาและเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับผู้แทนของสหรัฐฯ 

ฮุน มาเน็ต กล่าวด้วยว่า การเพิ่มภาษีนําเข้าสินค้าของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ขาดทุนอย่างมากจากการนําเข้าสินค้าจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาจากการขาดดุลการค้า ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาจะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ ต่อไปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน

ข้ามมาที่มาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เผย “ผมได้ติดต่อบุคคลใกล้ชิดกับโดนัลด์ ทรัมป์ และรัฐมนตรีต่างประเทศของเรา ได้รับสายจากมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อเดินหน้าเจรจา”

ขณะที่ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “ผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ นั้นน้อยนิด ฟิลิปปินส์เชื่อมั่นในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ ไม่ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร แต่ฟิลิปปินส์จะตอบโต้อย่างเหมาะสมที่สุด”

ไทม์ไลน์ของประเทศไทย

3 เมษายน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงท่าทีไทยต่อมาตรการภาษีสหรัฐฯ อย่างชัดเจนและมองการณ์ไกล ท่ามกลางประกาศขึ้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำ 10% ต่อทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งสำหรับไทยนั้น ถูกตั้งอัตราภาษีไว้สูงถึง 37% โดยจะมีผลตั้งแต่ 9 เมษายนเป็นต้นไป

ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา คณะทำงานได้ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียม “ข้อเสนอที่มีน้ำหนักพอให้สหรัฐฯ มีแรงจูงใจเข้าสู่โต๊ะเจรจากับไทย” โดยหวังให้เกิดการปรับดุลการค้าที่กระทบต่อผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้บริโภคน้อยที่สุด

6 เมษายน 

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ ชี้แจงกรอบเจรจาสหรัฐฯ หลัง "ทรัมป์" ออกมาตรการภาษี โดยย้ำคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ มั่นใจการเจรจาจะบรรลุผล
สำหรับใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่าขณะนี้ รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่นการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และ สินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก 
โดยขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด  นอกจากนี้ประเทศไทย จะมีการเจรจา เรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯและลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ
"ดิฉันขอให้คำมั่นว่า ทุกท่านไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนในระยะสั้น และระยะยาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง SME และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ โดยการเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ อีกทั้งยังจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย ที่เรามุ่งมั่นที่จะเจรจาการค้า ในการเปิดตลาดใหม่ๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และ อินเดีย โดยจะเร่งเจรจาการค้า FTA ให้เร็วยิ่งขึ้น" นายกรัฐมนตรีกล่าว

อันวาร์ หัวขบวนใหญ่ผนึกกำลังอาเซียน

อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซีย และในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ เปิดเผยว่ากับ Free Malaysia Today ได้พูดคุยกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อหามติร่วมกัน และเขาเองวางแผนจะหารือกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อผนึกเสียงเข้าเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ 

อันวาร์ ย้ำว่า มาเลเซียนั้นทนต่อผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ได้ หากชาติอาเซียนรวมใจและผนึกกำลังกันทัดทานนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ

“อาเซียนต้องเข้มแข็ง เราต้องไม่ทำอะไรผลีผลาม เพราะยังคาดเดาไม่ได้ว่าภาษีตอบโต้นี้จะไปในทิศทางไหน... แต่มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย เพียงลำพัง ไม่แข็งแกร่งพอ เราต้องรวมพลังกันเพื่อเจรจา ให้เห็นเอกภาพของเรา”

วิเคราะห์ท่าทีทรัมป์กรณีเจรจากับเวียดนาม 

ความพร้อมของทรัมป์ที่ยอมเจรจากับเวียดนามที่เจอภาษีตอบโต้ถึง 46% ทำให้เอเอฟพีวิเคราะห์ว่า สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีตอบโต้ของทรัมป์เอง 

ย้อนไปสมัยทรัมป์ดำรงตำแหน่งครั้งแรก เวียดนามก้าวกระโดดสู่เขตเศรษฐกิจที่เป็นที่จับตา ด้วยภูมิศาสตร์ และแรงงานค่าแรงค่อนข้างต่ำ จนกลายเป็นฐานการผลิตทางเลือกสำหรับทั้งโลก ที่อาจต้องการเบนเข็มออกมาจากจีน ในช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน 

หลายบริษัทเอง ได้ย้ายฐานการผลิตและซัพพลายเชนของตนเอง ไปยังเวียดนาม ทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ต่อเวียดนาม ขยายตัวเป็น 2 เท่าในช่วงระหว่างปี 2017 - 2023

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง