รีเซต

เตือน 10 อันดับข่าวปลอมได้รับความสนใจมากสุด แนะเช็กให้ชัวร์ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์

เตือน 10 อันดับข่าวปลอมได้รับความสนใจมากสุด แนะเช็กให้ชัวร์ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์
TNN ช่อง16
8 มิถุนายน 2567 ( 12:10 )
44
1
เตือน 10 อันดับข่าวปลอมได้รับความสนใจมากสุด แนะเช็กให้ชัวร์ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน” รองลงมาคือเรื่อง “ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน


นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,203,865  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 230 ข้อความ


สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 182 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 37 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Website จำนวน 9 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 175 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 110 เรื่อง

            

ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย


กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 77 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 39 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 7 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 31 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 21 เรื่อง

             

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รองลงมาเป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่


อันดับที่ 1 : เรื่อง  เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน

อันดับที่ 2 : เรื่อง ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

อันดับที่ 3 : เรื่อง เพจ Thailand International Airport Center เปิดรับสมัครงาน รายได้ 10,000 บาท/สัปดาห์

อันดับที่ 4 : เรื่อง เปลี่ยนมิเตอร์ดิจิทัล ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทันที

อันดับที่ 5 : เรื่อง คันตามผิวหนังเพราะมีก๊าซเน่าเสียในลำไส้ กระตุ้นเซลล์ในร่างกายให้หลั่งฮิสตามีน

อันดับที่ 6 : เรื่อง รับสมัครคนพับถุงกระดาษ รายได้ 500-2,500 บาทต่อวัน/สัปดาห์

อันดับที่ 7 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัคร Part time พับถุงกาแฟ

อันดับที่ 8 : เรื่อง 9 สัญญาณเตือนโรคไทรอยด์เป็นพิษ

อันดับที่ 9 : เรื่อง  กินวิตามินซีพร้อมกุ้ง ทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู

อันดับที่ 10 : เรื่อง ความชื้นในอากาศสูง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยระบายลมออกจากรูขุมขนยาก            

             

จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง ถึง 5 อันดับ และรองลงคือ เรื่องการรับสมัครงาน โดยส่วนใหญ่รูปแบบของการแนะนำด้านสุขภาพที่ผิด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันข่าวการหลอกลวงสร้างอาชีพ หารายได้เสริม ทำให้ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อ และสร้างความเข้าใจผิด จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพออนไลน์ นำไปสู่ความเสียหายที่เป็นผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว

              

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถตรวจสอบ ติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง”    




ภาพจาก AFP                       

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง