รีเซต

ออสเตรเลียเดินหน้าพัฒนา 'สเปรย์ฉีดจมูก' ต้านโควิด-19

ออสเตรเลียเดินหน้าพัฒนา 'สเปรย์ฉีดจมูก' ต้านโควิด-19
Xinhua
7 ตุลาคม 2564 ( 14:00 )
44
ออสเตรเลียเดินหน้าพัฒนา 'สเปรย์ฉีดจมูก' ต้านโควิด-19

ซิดนีย์, 7 ต.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยด้านระบบทางเดินหายใจของออสเตรเลีย เตรียมเริ่มขั้นตอนต่อไปในการพัฒนา      สเปรย์ฉีดจมูก (nasal spray) เพื่อปกป้องผู้คนจากโรคติดเชื้อ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และไข้หวัดใหญ่

 

 

วันพฤหัสบดี (7 ต.ค.) คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยทางการแพทย์ฮันเตอร์ (HMRI) และมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (UON) ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ (NSW) ของออสเตรเลีย กล่าวว่ากำลังพัฒนาสเปรย์ฉีดจมูกไอเอ็นเอ็นเอ-051 (INNA-051) ร่วมกับเอนา เรสปิราทอรี (Ena Respiratory) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติออสเตรเลีย

 

 

จากการศึกษาช่วงก่อนการทดลองทางคลินิกในซิดนีย์ คณะนักวิจัยพบว่าสเปรย์ฉีดจมูกข้างต้นสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งเป็นด่านแรกในการสกัดกั้นเชื้อไวรัสต่างๆ ในจมูกและลำคอที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคปอดที่รุนแรงได้

 

 

"เราพบว่าสเปรย์ไอเอ็นเอ็นเอ-051 มีประสิทธิภาพอย่างมากในการกระตุ้นทางเดินหายใจให้ตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น" รองศาสตราจารย์นาธาน บาร์เลตต์ จากมหาวิทยาลัยฯ กล่าว

 

 

ในการพัฒนาอีก 2 ขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2022 คณะนักวิจัยจะทำการศึกษาในหลายประเทศเพื่อพิจารณาว่าสเปรย์ไอเอ็นเอ็นเอ-051 สามารถลดการติดโรคโควิด-19 ในหมู่ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-55 ปี ซึ่งมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกได้หรือไม่

 

 

นอกจากนั้น คณะนักวิจัยจะประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสเปรย์ไอเอ็นเอ็นเอ-051 ในการป้องกันโรคก่อนได้รับเชื้อ (pre-exposure) ว่าจะสามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสจากการทดลองได้ดีเพียงใด

 

 

คณะนักวิจัยเชื่อว่าในท้ายที่สุด สเปรย์ไอเอ็นเอ็นเอ-051 จะสามารถเสริมประสิทธิภาพของวัคซีนได้ โดยเฉพาะในคนกลุ่มเสี่ยงที่ประสิทธิภาพของวัคซีนอาจลดลง อาทิ ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง

 

 

ไมค์ คาลฟอร์ด ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นว่างานวิจัยของสถาบันกำลังเปลี่ยนผ่านจากการทดลองในห้องปฏิบัติการไปสู่การรักษากับผู้ป่วย โดยคณะนักวิจัยของสถาบันฯ ยังคงเป็นบุคลากรแนวหน้าในด้านนี้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและช่วยรักษาชีวิตผู้คน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง