รีเซต

แม่นยำและอันตรายมากขึ้น ! ระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลแบบใหม่จาก Lockheed Martin

แม่นยำและอันตรายมากขึ้น ! ระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลแบบใหม่จาก Lockheed Martin
TNN ช่อง16
26 มิถุนายน 2567 ( 14:42 )
39

บริษัทผลิตระบบป้องกันและด้านการบินอย่าง ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ร่วมกับ ไรน์เมทัล (Rheinmetall) ผู้ผลิตยานยนต์และอาวุธสัญชาติเยอรมัน เพื่อพัฒนาระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกลที่ชื่อว่า Global Mobile Artillery Rocket System หรือ GMARS ซึ่งพวกเขาอ้างว่ามีความคล่องตัวสูง ยิงระยะไกลได้อย่างแม่นยำ มีความคุ้มค่า และอันตรายอย่างมาก ระบบดังกล่าวเปิดตัวในงานนิทรรศการระดับนานาชาติสำหรับอุตสาหกรรมการป้องกันและรักษาความปลอดภัยอย่าง ยูโรซาโทรี่ (Eurosatory) 2024 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 - 21 มิถุนายนที่ผ่านมา


ระบบยิงขีปนาวุธพิสัยไกล จะมีเครื่องยิงจรวด 2 ช่องของ Lockheed Martin ซึ่งติดตั้งไว้รถบรรทุก HX 8×8 ของ Rheinmetall โดยระบบสามารถควบคุมการยิงแบบบูรณาการใหม่ล่าสุด นอกจากนี้ยังมีระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ GPS ในตัวสำหรับการนำทาง มีระบบบูมและรอก (GMARS boom-and-hoist system) ช่วยเพิ่มการวางตำแหน่งและบรรจุซ้ำได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการยิงด้วย ด้านพิสัยการยิงทำได้สูงสุด 700 กิโลเมตร


GMARS ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานในทุกสภาพอากาศและใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเคลื่อนที่ได้บนถนนทั่วไปหรือขนส่งทางรถไฟได้ ตัวระบบใช้คนควบคุมน้อย 2-3 คน รวมถึงห้องโดยสารก็ออกแบบมาให้มีการป้องกันด้วย 


ยิ่งไปกว่านั้น ยังใช้ยิงขีปนาวุธได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้อง (Multiple Launch Rocket System หรือ MLRS) , ขีปนาวุธโจมตีระยะไกลแบบแม่นยำ (long-range Precision Strike Missile หรือ PrSM) และระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Army Tactical Missile System หรือ ATACMS)


สำหรับคุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของระบบ GMARS คือ Shoot-and-Scoot Capability หรือ ยุทธวิธีในการยิงแล้วสามารถเคลื่อนออกออกจากตำแหน่งการยิงได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการถูกยิงสวนกลับ ซึ่งความสามารถในการเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็วนี้ ได้จากรถบรรทุก HX 8×8 ของ Rheinmetall ที่วิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 62 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวรถมีความยาว 9.8 เมตร กว้าง 2.5 เมตร รวมถึงมีน้ำหนักรวมทั้งระบบไม่เกิน 40 ตัน ทำให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่


ในอนาคตระบบอาวุธนี้อาจถูกพัฒนาให้มีความยืดหยุ่นและมีคุณสมบัติมากขึ้น คืออาจใช้ยิงขีปนาวุธร่อนแบบยิงจากภาคพื้นดิน (Surface-Launch Cruise Missile) และจรวดขนาด 122 มิลลิเมตร แสดงให้เห็นถึงความยืนหยุ่นในการรองรับการทำงานของตัวระบบ


เว็บไซต์ Interesting Engineering เผยว่า มีแนวโน้มที่ สมาชิกต่าง ๆ ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) จะนำระบบอาวุธใหม่นี้เข้าไปในคลังแสงของตน ในขณะเดียวกัน มีรายงานว่ามีลูกค้าชาวยุโรปอย่างน้อย 4 รายที่กำลังหารือเพื่อซื้อระบบนี้ และแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนและหลายปีข้างหน้า เนื่องจากประเทศในยุโรปส่วนใหญ่มองเห็นความจำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถด้านอำนาจการยิงของตน





ที่มาข้อมูล InterestingEngineeringRheinmetall

ที่มารูปภาพ Rheinmetall

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง