รีเซต

รัฐบาลเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

รัฐบาลเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด
TNN ช่อง16
13 พฤศจิกายน 2566 ( 15:07 )
46
รัฐบาลเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

รัฐบาลเตรียมแผนรับมือน้ำท่วมภาคใต้ พ.ย.นี้ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เร่งรับมือน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และอุทกภัย


วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ว่า จากการคาดการณ์ฝนภาคใต้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 - เมษายน 2567 พบว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง กุมภาพันธ์ 2567  มีพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณฝนตกจำนวนมาก คือพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่จังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส 


ส่วนปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่นั้น ปัจจุบันภาคใต้มีปริมาณน้ำใช้การรวม 3,620 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66% โดยแยกเป็น อ่างเก็บน้ำรัชชประภา มีปริมาณน้ำ 3,055 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% อ่างเก็บน้ำบางลาง มีปริมาณน้ำ 565 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48%

 

ทั้งนี้ ทำให้ขณะนี้ สทนช. ได้วางมาตรการรับมือฤดูฝน โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำ โดยใช้กลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมจัดทำเป็นรายงานสถานการณ์น้ำประจำวันทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีการตั้งศูนย์ส่วนหน้า ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด 


เพราะเรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการทำฝาย และธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วม รวมถึงสามารถช่วยช่วงน้ำแล้งได้อีกด้วย

 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์น้ำเริ่มวิกฤต จะมีการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ตามที่ตน ได้มีนโยบายบูรณการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยให้มีหน้าที่บูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ รวมถึงปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก จะได้สามารถแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ได้ทัน 


นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มและอุทกภัยในพื้นที่ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งในการดำเนินการจะมีการประชุมประเมินสถานการณ์ทุกวันเพื่อสรุปข้อมูลและให้คำแนะนำ รวมถึงประกอบการตัดสินใจการบริหารจัดการน้ำ และติดตามและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกับทุกหน่วยงานอย่างใกล้ชิดต่อไป




ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย

ภาพจาก TNN ONLINE (แฟ้มภาพ)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง